เปิด “ศูนย์ที่พักฯ-กักแยกฯ” ลดความเสี่ยง-ชุมชนขัดแย้ง

สังคม
11 เม.ย. 63
17:50
1,437
Logo Thai PBS
เปิด “ศูนย์ที่พักฯ-กักแยกฯ” ลดความเสี่ยง-ชุมชนขัดแย้ง
เปิด “ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ ปทุมธานี” ที่พักคนกลุ่มเสี่ยง เลี่ยงความขัดแย้งกับชุมชน ตัดวงจรการแพร่ระบาด COVID-19 ในครอบครัว ชุมชน เพิ่มโอกาสให้ผู้ที่มีข้อจำกัดด้านสถานที่กักตัว มีพื้นที่กักตัว โดยอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาล

เมื่อมีสถานที่กักแยกตัว จะทำให้ “PUI” หรือ ผู้ที่รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยง หรือมาจากพื้นที่เสี่ยง แต่ไม่กล้าแสดงตัว เพราะกลัวว่าทั้งตัวเองและครอบครัว จะถูกคนในชุมชนรังเกียจ หรือกดดันจนอาศัยอยู่ในชุมชนไม่ได้ กลับมามี “ความกล้า” ที่จะแสดงตัว เพราะมีสถานที่ที่เหมาะสมแล้ว และยังทำให้ “ครอบครัว” ไม่มีความเสี่ยงติดเชื้อ ชุมชน ก็ไม่มีความเสี่ยงติดเชื้อ จากเคสนี้

 

เป็น “ด่านหน้า” สกัดโรคก่อนถึงแพทย์

กระบวนการนี้ จึงเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดตั้งแต่ “ต้นน้ำ” คือ ตัดวงจรการเพิ่มจำนวนผู้ป่วย ตัดวงจรการเพิ่มจำนวนกลุ่มเสี่ยง ตั้งแต่ก่อนจะถึงโรงพยาบาล และเมื่อชุมชนหรือท้องถิ่นมีความเข้าใจ ก็จะทำให้ชุมชนกลายเป็น “ด่านหน้า” ในการสกัดโรค ลดภาระให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ โดยโรงพยาบาลถือเป็น กลางน้ำ ที่รักษาผู้ป่วย สู้กับไวรัสอย่างเข้มแข็ง และ โรงพยาบาลสนามเป็นปลายน้ำ

“ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ ปทุมธานี” จึงเป็นโมเดลให้กับจังหวัดต่างๆ นำไปใช้ โดยมีรูปแบบการถอดบทเรียนไว้แล้วจากประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน กระทั่งนำมาปรับใช้กับศูนย์นี้

 

ศูนย์ฯ ไม่ใช่โรงพยาบาล จึงไม่มีผู้ติดเชื้อ

- สถานที่กักแยกลักษณะนี้ ไม่ใช่โรงพยาบาลสนาม ไม่ใช่การนำผู้ติดเชื้อมาพักอาศัย แต่เป็นกระบวนการต้นน้ำ ที่จะทำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงซึ่งต้องกักตัวเอง แต่ไม่มีสถานที่กักตัวเอง ซึ่งจะทำให้คนในครอบครัวและชุมชนปลอดภัย เพราะอยู่บ้านที่ไม่มีห้องพักแยก ไม่มีห้องน้ำแยก อยู่แฟลต หอพัก หรือ ชุมชนแออัด และต้องอาศัยอยู่ร่วมกันหลายคน ได้มาพักอาศัยที่ศูนย์ฯแทนในช่วงกักตัว ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อที่จะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวและชุมชน
- ผู้ที่เข้ารับการกักแยก จะได้เข้าใช้บริการที่ศูนย์ฯ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมมีบริการเครื่องอุปโภค บริโภค มีอาหารครบ 3 มื้อ ช่วยลดภาระจากการต้องไปหาเช่าสถานที่กักตัวเอง และลดภาระในยามที่ไม่มีรายได้ระหว่างการกักตัวเอง
- สถานที่กักแยก อยู่ห่างไกลจากชุมชน มีอาณาบริเวณโดยรอบอาคารที่ใช้เป็นที่กักแยกกว้างขวาง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ผู้ที่เข้ารับการกักแยกอยู่ในห้องส่วนตัวห้องละ 1 คน มีห้องน้ำในตัว และไม่มีบุคคลอื่นเข้าไปในห้องนั้น

 

ผ่านคัดกรองจากโรงพยาบาลมาแล้ว

- การคัดเลือกผู้ที่เข้ารับการกักแยก ผ่านการคัดกรองจากโรงพยาบาลของรัฐ ใน จ.ปทุมธานี เดินทางมาที่ศูนย์ด้วยรถพยาบาลที่มาตรการในการป้องกันการติดเชื้อตามมาตรฐาน ไม่ปะปนกับใครในระหว่างการเดินทาง เมื่อมาถึงแล้ว เข้าสู่กระบวนการกักแยกทันที
- การขึ้นไปยังอาคารของผู้ที่เข้ารับการกักแยก จะมีเส้นทางเดินที่กำหนดให้เดินตามทางนี้โดยเฉพาะ ซึ่งออกแบบโดยสถาปนิก และจะใช้ลิฟต์แยก โดยมีพยาบาลกดเปิดลิฟต์และกดลิฟต์เลือกชั้นรอไว้ให้ เมื่อออกจากลิฟต์ ก็จะมีพยาบาลในชุด PPE เปิดประตูห้องรอไว้ให้ หมายความว่า สิ่งแรกที่ผู้เข้ารับการกักแยกจะได้สัมผัส คือ “ลูกบิดประตูด้านในห้อง” จากนั้นก็อยู่ในห้องตลอดจนครบเวลาโดยไม่ออกมาอีก

 

มีอุปกรณ์พร้อมบริการ มีพยาบาลดูแลตลอดเวลา

- การบริการต่างๆ ในระหว่างการกักแยก ทางศูนย์ มีอุปกรณ์ดำรงชีวิตให้ มีเสื้อผ้าที่ซักแล้วแห้งไวให้เปลี่ยนใช้ส่วนตัว มีอุปกรณ์ซักผ้า มีบริการอาหารที่นำไปแขวนไว้ให้วันละ 3 มื้อ โดยเจ้าหน้าที่สวมอุปกรณ์ป้องกันเต็มรูปแบบ โดยตลอดระยะเวลาที่อยู่ระหว่างการกักแยก พยาบาลที่มาประจำที่ศูนย์จะไม่มีโอกาสได้พบปะกับผู้เข้ารับการกักแยกเลย
- ผู้เข้ารับการกักแยก สามารถติดต่อกับครอบครัวได้ เพราะทางศูนย์มีบริการอินเทอร์เน็ตให้ใช้ฟรี ในระหว่างการกักแยก
- หากผู้เข้ารับการกักแยกคนใด มีอาการป่วยที่เข้าข่ายว่าจะติดเชื้อ ทีมแพทย์และพยาบาล จะประเมินอาการ และประสานรถพยาบาลนำตัวไปที่โรงพยาบาลทันทีด้วยรถพยาบาลที่ได้มาตรฐาน

โดยผู้ป่วยจะไม่ได้พบกับผู้เข้ารับการกักแยกคนอื่น และไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับพยาบาล เพราะต้องลงมาที่รถพยาบาลเอง ตามเส้นทางที่กำหนดให้ โดยมีลิฟต์ที่แยกไว้เฉพาะสำหรับผู้ที่มีอาการเท่านั้นจะใช้เป็นทางลง ไม่ปะปนกับลิฟต์ตัวอื่น
- ผู้ที่เข้ารับการกักแยกและมีผลตรวจเป็น Negative จะอยู่ให้ครบ 14 วันในการกักตัว เมื่อครบแล้วศูนย์จะออกใบรับรองจากโรงพยาบาลให้ด้วย เพื่อให้ใช้เป็นหลักฐานยืนยันกับคนในชุมชนว่า ไม่ติดเชื้อ
- ส่วนห้องที่ผู้เข้ากักแยกย้ายออกไปแล้ว ก็จะเปิดให้แสงแดดและลมเข้ามาฆ่าเชื้อประมาณ 2 วัน ก่อนจะใช้เวลาทำความสะอาดตามขั้นตอนอีก 2 วัน จึงจะให้ผู้กักแยกรายใหม่เข้าพักได้
- สำหรับชุมชนที่อยู่ใกล้ศูนย์นี้ จะได้รับประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง เพราะหากมีผู้ที่เข้าข่ายต้องกักตัวเอง 14 วัน เพราะไปยังสถานที่เสี่ยง หรือมีประวัติพบปะกับผู้ติดเชื้อ ก็สามารถเข้าไปกักแยกตัวเองที่ศูนย์ ช่วยให้ครอบครัวไม่ต้องกังวลและคนในชุมชนอยู่อย่างสบายใจ

 

สร้างรายได้ให้ชุมชน

นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังสร้างรายได้ให้ชุมชนด้วยการจ้างงานคนในชุมชน มาเป็นเจ้าหน้าที่ จ้างคนในชุมชนมาเป็นแม่ครัว ซื้อวัตถุดิบทำอาหารจากชุมชน ซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคของผู้เข้ารับการกักแยกจากร้านค้าในชุมชน

ศูนย์ฯ แห่งนี้ นี้เกิดขึ้นจากการระดมความคิดของคนในหลายสาขาอาชีพ ทั้ง แพทย์ พยาบาล นักเศรษฐศาสตร์ นักปกครอง วิศวกร สถาปนิก ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยได้แรงสนับสนุนหลักจากเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) ของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงจัดตั้งศูนย์ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเริ่มดำเนินการเป็นศูนย์กักแยกกลุ่มผู้เกณฑ์เฝ้าระวัง (PUI) ประจำจังหวัดปทุมธานีแล้ว โดยรองรับกลุ่มผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังจากโรงพยาบาลของรัฐในจังหวัดปทุมธานี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง