ผู้ว่า รฟท.คนใหม่ พร้อมลุยงาน-สานต่อเมกะโปรเจค

สังคม
13 เม.ย. 63
09:56
746
Logo Thai PBS
ผู้ว่า รฟท.คนใหม่ พร้อมลุยงาน-สานต่อเมกะโปรเจค
รมว.คมนาคม สั่งผู้ว่ารถไฟคนใหม่ เร่งเดินหน้าสานต่องานทุกโครงการ ทลายทุกข้อจำกัดที่มีควบคู่ธรรมาภิบาลเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพ ด้านผู้ว่ารถไฟคนใหม่พร้อมเข้าทำงานสานต่อเมกะโปรเจค และเตรียมแผนแก้ปัญหาแพร่กระจาย COVID-19

วันนี้ (13 เม.ย.2563) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้าพบว่า หลักในการทำงานที่ตนให้นโยบายกับ ผู้ว่า รฟท. คนใหม่ คือ ให้ทำงานสานต่อโครงการที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ดำเนินการอยู่ตามเป้าหมายด้วยหลักธรรมภิบาล โปร่งใส รวมทั้งให้เร่งรัดการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ ร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจนถึงระดับพนักงาน ย้ำต้องทลายทุกข้อจำกัด ให้เกิดประสิทธิภาพ ไร้ปัญหา ที่สำคัญการทำงานต้องอยู่บนพื้นฐานระเบียบข้อกฎหมาย

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ

ปรับปรุงสวัสดิการ รฟท.

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่า รฟท. เปิดเผยว่า ภายหลัง ครม.ได้มีมติแต่งตั้งตนให้ดำรงตแหน่งผู้ว่า รฟท. คนใหม่ ขั้นตอนต่อไปต้องรอการเซ็นสัญญาจ้าง คาดว่าจะภายในสัปดาห์นี้ หรืออย่างช้าสัปดาห์หน้า เมื่อเริ่มงานแล้วจะพบพนักงาน รฟท. และ สหภาพ รฟท.ก่อน เพื่อทำความรู้จักกันและเข้าใจสิ่งที่เป็นแนวทางที่จะทำงานร่วมกัน โดยเป้าหมายแรกที่สำคัญ คือ การเข้ามาดูแลปรับปรุงสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ที่พนักงาน รฟท.ควรจะได้รับ ซึ่งตนต้องการที่ให้พนักงาน รฟท.มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากพนักงานถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะผลักดัน ให้รถไฟไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ และเป็นจักรกลสำคัญในการหารายได้ พัฒนาบริการการขนส่งที่ดีแก่ผู้ใช้บริการ

นอกจากนั้น จะเข้ามาดูแลในเรื่องของการแก้ไขปัญหา ลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างจริงจัง พร้อมจัดสุขอนามัยที่ดีให้กับพนักงานเพิ่มขึ้น เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายไปโดยเร็ว ในส่วนของการให้บริการในช่วงที่ไวรัสแพร่ระบาดก็จะต้องจัดขบวนรถให้บริการเท่าที่จำเป็น แต่ก็ไม่ได้จะหยุดให้บริการเลย เนื่องจากรถไฟถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ

ส่วนการสานงานต่อในโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ที่ รฟท. ดำเนินการอยู่ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินนั้น จะเดินหน้าสานต่องานให้เป็นไปตามเป้าหมายนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม


ไม่ได้รู้สึกหนักใจกับปัญหาภาวะขาดทุน เนื่องจากเป้าหมายในการทำงานต้องการเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาอยู่แล้ว ขอเวลาศึกษารายละเอียดแผนฟื้นฟูทั้งหมด เพื่อที่จะให้ รฟท.เดินหน้าพ้นจากปัญหาการขาดทุนสะสมกว่า 1 แสนล้านบาท

เร่งสานต่องานเมกะโปรเจค

ทั้งนี้ โครงการสำคัญของ รฟท.ที่ต้องเร่งดำเนินงานนั้น แบ่งเป็น โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ รถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา), โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา, รถไฟชานเมือง (รถไฟฟ้า) สายสีแดง 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงบางซื่อ-รังสิต และงานเดินรถ และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน

ในส่วนโครงการที่เตรียมเปิดประมูลและผลักดันให้ ครม.เห็นชอบ ได้แก่ รถไฟชานเมือง (รถไฟฟ้า) สายสีแดง 4 ช่วง คือ ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ,ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ,ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และบางซื่อ-หัวหมาก
     
โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 โครงการ คือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และช่วงบางไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ,รถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย, ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่, ช่วงขอนแก่น-หนองคาย, ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา, ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงินรวม 493,149 ล้านบาท     

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิรุฒ เตรียมที่จะเข้าเซ็นสัญญาภายในสัปดาห์นี้และตั้งเป้าหมายที่จะเข้าเริ่มงานวันแรก ในวันที่ 24 เม.ย.นี้ เพื่อจัดการงานเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่มีพนักงาน รฟท. ติดเชื้อและต้องมีการกักตัวอยู่จำนวนหนึ่ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง