ศบค.ชี้ปัจจัยภายนอกมีผลกำหนดมาตรการคุมเข้ม COVID-19

การเมือง
13 เม.ย. 63
14:26
719
Logo Thai PBS
ศบค.ชี้ปัจจัยภายนอกมีผลกำหนดมาตรการคุมเข้ม COVID-19
โฆษก ศบค.รายงานยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่เพิ่ม 28 คน เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน โดยย้ำว่าแม้แนวโน้มสถานการณ์ดีขึ้น แต่ยังต้องบังคับใช้มาตรการต่างๆ ต่อไป เพราะยังวางใจไม่ได้

วันนี้ (13เม.ย.2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.จัดประชุมช่วงเช้าวันนี้โดยน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงชื่นชมการปฏิบัติงานของรัฐบาล คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ พลเรือน ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล สาธารณสุข เจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุข จิตอาสา ตลอดจนภาคธุรกิจเอกชน และประชาชนที่ร่วมกันทำงานอย่างหนัก ด้วยความอดทนเสียสละ ร่วมมือกันจนทำให้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับจนเป็นที่น่าพอใจ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า มีจำนวนผู้ติดเชื้อป่วยสะสม 2,579 คน อยู่ที่กรุงเทพมหานคร 1,306 คน ภูเก็ต 182 คน นนทบุรี 150 คน สมุทรปราการ 105 คน รวมมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 68 จังหวัด มี 9 จังหวัด ที่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี อ่างทอง หายป่วยเพิ่ม 70 คน รวมกลับบ้านแล้ว 1,288 คน ซึ่งเป็นเรื่องดีในเทศกาลปีใหม่ไทยที่ได้เห็นตัวเลขค่อยๆ ลดลง

ขณะที่อัตราผู้ติดเชื้อต่อจำนวนประชาชนแสนคน สูงสุดยังอยู่ที่ จ.ภูเก็ต ที่ 44.03 คนต่อประชากรแสนคน และกรุงเทพมหานคร 23.03 คน ต่อประชากรแสนคน

เสียชีวิตอีก 2 คน รวมเป็น 40 คน

สำหรับผู้เสียชีวิตในประเทศไทย โฆษก ศบค. ชี้แจงว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 คน คือชายไทย อายุ 56 ปี มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยมาก่อน เริ่มป่วยวันที่ 7 มี.ค. รักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการในวันที่ 14 มี.ค. เสียชีวิตวันที่ 12 เม.ย., ชายไทย อายุ 43 ปี อาชีพพนักงานบริษัท มีโรคประจำตัวเบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ไขมันในเลือดสูง เริ่มป่วยวันที่ 23 มี.ค. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร วันที่ 31 มี.ค. แล้วกลับเข้ามารักษาอีกครั้ง วันที่ 5 เม.ย.เสียชีวิตวันที่ 11 เม.ย. รวมมีผู้เสียชีวิตทั้งหมดแล้ว 40 คน

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 28 คน

สำหรับผู้ติดเชื้อใหม่ โฆษก ศบค. บอกว่า มีจำนวนลดลงอยู่ที่ 28 คน ประกอบด้วยกรุงเทพมหานคร 12 คน ภูเก็ต 6 คน ชลบุรี ยะลา สตูล จังหวัดละ 2 คน ชุมพร นครพนม นนทบุรี เลย จังหวัดละ 1 คน โดยกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด คือผู้ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยเดิม 18 คน

บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่มอีก 3 คน ซึ่งแนวโน้มผู้ติดเชื้อต่างจังหวัดมีแนวโน้มลดลง ส่วนกรุงเทพทหานครและนนทบุรียังขึ้นๆ ลงๆ อยู่ และกลุ่มที่กลับมาจากประเทศอินโดนีเซียแล้วเข้าสู่กัน กักตัวโดยรัฐหรือ State Quarantine ที่ จ.สตูล 2 คน ยะลา 1 คน ซึ่งกลุ่มนี้มีติดเชื้อสะสมแล้ว 61 คน

โฆษก ศบค. ยังกล่าวถึงผลวิเคราะห์จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มเสี่ยงอันดับ 1 คือกลุ่มที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ รองลงมาคือคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ สนามมวย อาชีพเสี่ยง และสถานบันเทิง ซึ่งเป็นเหตุให้มีการปิดสถานบันเทิงเพราะอยู่ในกลุ่มเสี่ยง

ภูเก็ตใช้มาตรการเชิงรุก ผู้ป่วยหน้าใหม่ลดลง

ส่วนมาตรการต่างๆ ใน จ.ภูเก็ต โฆษก ศบค. กล่าวว่า พบผู้ป่วยรายแรกใน จ.ภูเก็ตวันที่ 26 ม.ค. มีผู้ป่วยสะสมจำนวนที่สูง และพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจากมาตรการเชิงรุก (Active Case finding) จนทำให้ผู้ป่วยใหม่ค่อยๆ ลดน้อยลง ซึ่งกลุ่มเสี่ยงในจ.ภูเก็ตอันดับที่ 1 คือ สถานบันเทิงมีถึง 71 คน และสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 33 คน อาชีพเสี่ยง 33 คน คนต่างชาติเดินทางมาจากต่างประเทศ 10 คน และคนไทยมาจากต่างประเทศ 4 คน

เมื่อมีมาตรการปิดสถานบันเทิง ปิดซอยบางลา นวดแผนไทย สนามกีฬา ปิดโรงแรม ปิดพื้นที่ป่าตอง จึงจะกดตัวเลขลงไปได้ ซึ่งเป็นมาตรการของ จ.ภูเก็ต ที่ต้องได้รับความร่วมมือกับประชาชน โดยโรงพยาบาลป่าตองตรวจเชื้อ 1,712 คน พบเชื้อ 19 คน โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ตรวจ 763 คน พบเชื้อ 2 คน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเชิงทะเล ตรวจ 103 คน พบเชื้อ 5 คน ส่วนโรงพยาบาลถลางตรวจ 337 คน ไม่พบผู้ติดเชื้อ พร้อมย้ำว่าหากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้รีบมาตรวจ เพื่อป้องกันการระบาดอย่างรวดเร็ว

ยอดผู้ติดเชื้อไทยยังอยู่อันดับที่ 48 ของโลก

สำหรับสถานการณ์โลก โฆษก ศบค. บอกว่า ไทยยังอยู่อันดับที่ 48 ของโลก ที่มีผู้ติดเชื้อ 1,853,155 คน เสียชีวิต 114,247 คน ประเทศสหรัฐอเมริกาติดเชื้อสูงสุด 560,433 คน เสียชีวิต 22,115 คน ตามด้วยสเปน ติดเชื้อ 166,831 คน เสียชีวิต 17,209 คน อิตาลีติดเชื้อ 156,363 คนเสียชีวิต 19,899 คน ส่วนประเทศอังกฤษ ที่มีมาตรฐานการแพทย์สูง ก็ยังเสียชีวิต 10,612 คน

ส่วนกลุ่มประเทศเอเชีย ประเทศอินเดียมีผู้ติดเชื้อสูงสุดที่ 9,205 คน เสียชีวิต 331 คน เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ตามมาด้วยญี่ปุ่นติดเชื้อ 7,370 คน เสียชีวิต 123 คน อันดับที่ 25 ของโลก ส่วนประเทศสิงคโปร์ แม้จะอยู่อันดับที่ 50 ของโลก ตามหลังประเทศไทยอยู่ แต่ก็พบจำนวนผู้ป่วยใหม่ถึง 233 คน โดยส่วนใหญ่มาจากพื้นที่แออัด ทำให้พบผู้ป่วยจำนวนสูงขึ้นโดยเร็ว อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังไม่สามารถไว้วางใจได้ แม้จะดีขึ้น โดยยกตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่น ที่กลับมามีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอีกครั้ง

ส่วนการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามออกนอกเคหะสถาน และประกาศห้ามรวมกลุ่มชุมนุมหรือมั่วสุม โฆษก ศบค.กล่าวว่า มีผู้กระทำความผิดออกนอกเคหสถาน 820 คน ลดลง 108 คน ส่วนการชุมนุมมั่วสุม 135 คน เพิ่มขึ้น 79 คน ที่ถูกดำเนินคดี ซึ่งอาจจะเสียทั้งชื่อเสียง ติดเชื้อ และเสียสุขภาพ

อาจผ่อนคลายบางกิจกรรมได้

ส่วนจะมีการผ่อนคลายมาตรการหรือไม่นั้น โฆศก ศบค. กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีการพูดคุยในคณะกรรมการวิชาการ เตรียมข้อมูลเพื่อให้มั่นใจจริงๆ ก่อน ถึงจะมีการผ่อนคลายมาตรการออกมา รวมไปถึงนโยบาย Work from Home ด้วย เพราะแม้ว่าสถานการณ์ภายในประเทศ มีการล้อมรั้วดูแลภายในเป็นอย่างดี แต่สถานการณ์ต่างประเทศยังคงมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่น่าไว้วางใจ หากมีการดูแลพื้นที่อย่างดี จะสามารถผ่อนคลายให้มีการทำกิจกรรมทางสังคมได้ดีขึ้น

ไม่สามารถรวมกลุ่มตั้งวงเหล้าในเวลากลางวันได้ แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว เนื่องจากมีประกาศห้ามจำหน่ายสุรา มีจุดประสงค์ไม่ให้เกิดการรวมกลุ่ม ที่เสี่ยงต่อการติดโรค ในฐานะจิตแพทย์ขอเตือนกลุ่มที่ดื่มหนักและต้องหยุดการดื่ม อาจเกิดอาการลงแดง มือสั่น และประสาทหลอน ให้รีบพบแพทย์ก่อน ซึ่งแพทย์จะมียาทดแทนการดื่มให้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง