ตรวจชีพจรธุรกิจท่องเที่ยวไทย : จากธงแดง ICAO ถึง ไวรัสเมอร์ส

เศรษฐกิจ
22 มิ.ย. 58
06:21
229
Logo Thai PBS
ตรวจชีพจรธุรกิจท่องเที่ยวไทย : จากธงแดง ICAO ถึง ไวรัสเมอร์ส

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ อุปนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอส ถึงผลกระทบจากการที่องค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) ติด "ธงแดง" เพื่อแสดงว่าไทยมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยการบิน รวมทั้งการพบผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์สคนแรกในประเทศ ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย

การที่กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสเมอร์สรายแรกในประเทศเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2558 รวมทั้งการที่ ICAO ติดธงแดงบนเว็บไซต์เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าการบินของไทยมีข้อบกพร่องเรื่องความปลอดภัย จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทยหรือไม่ อย่างไร
กรณีของโรคเมอร์สต้องมอง 2 ส่วน คือ ส่วนของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย หรือที่เรียกว่าตลาด Inbound ไม่น่าจะกระทบมากหากควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งขณะนี้ไทยยังมีตัวเลขของผู้ติดเชื้อเพียง 1 คน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขยืนยันล่าสุด และผู้ติดเชื้อเป็นคนต่างประเทศ ส่วนคนที่ใกล้ชิดผู้ป่วยก็อยู่ในห้องแยกโรค ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ถ้าสามารถควบคุมการแพร่เชื้อโดยไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ก็คิดว่าไม่น่าจะกระทบมาก แต่สำหรับตลาด Outbound คือการท่องเที่ยวขาออกย่อมส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปประเทศที่มีการระบาด เช่น เกาหลีใต้ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบทางจิตวิทยาต่อผู้โดยสารที่ใช้สายการบินชาติอาหรับ เพราะผู้ป่วยโรคเมอร์สเดินทางมากับสายการบินบางสาย

การรับมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อโรคเมอร์สจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวได้แค่ไหน
ประเทศไทยมีประวัติที่ดีในการรับมือกับโรคระบาด เช่น โรคซาร์ โรคไข้หวัดนก ซึ่งถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ควบคุมการระบาดได้ดีที่สุดประเทศหนึ่ง ซึ่งในการรับมือกับโรคเมอร์สก็มีการนำประสบการณ์ในอดีตมาใช้ ทำให้นักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นในการรับมือของไทย แต่ผมเห็นว่าควรมี การประชาสัมพันธ์ถึงมาตรการต่างๆ ให้มากขึ้น รวมทั้งต้องเฝ้าระวังในประเทศอย่างต่อเนื่อง ในส่วนความเชื่อมั่นของคนไทยที่จะเดินทางไปในประเทศมีการแพร่ระบาด จะฟื้นฟูได้อย่างไรบ้าง ผมคิดว่านักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด คงเป็นเรื่องของปลายทางว่า ประเทศเกาหลีหรือประเทศในตะวันออกกลางที่มีการแพร่ระบาดเขาจะมีมาตรการสร้าง ความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวได้อย่างไร เพราะว่าในประเทศเกาหลีใต้ก็ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น คิดว่าตรงนี้มีผลกระทบแน่นอน

ในส่วนของของ ICAO ติดธงแดงประเทศไทย ผมมองว่าจะกระทบต่อสายการบินแต่ละแห่งในการเปลี่ยนเครื่อง หรือเพิ่ม-ลดเที่ยวบินในเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการเยอะ ส่วนที่ 2 คือ กรณีนี้จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสายการบินของไทยที่อาจต้องสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดไปในอนาคต ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง ดังนั้นผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบทางจิตวิทยา ผู้ประกอบการก็ต้อง วางแผนเพื่อหาทิศทาง มาเสริมตลาดที่ขาดหายไป

การติดธงแดงของ ICAO จะกระทบถึงผู้บริโภค ผู้โดยสารหรือไม่
ผลกระทบทางตรงก็คือ ผู้บริโภคจะมีทางเลือกน้อยลง เพราะว่าที่ผ่านมา มีสายการบินที่เปิดเสรีเพิ่มมาขึ้น การแข่งขันทางการตลาดก็จะเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกมากขึ้น เมื่อเกิดปัญหาด้านมาตรฐานการบิน สายการบินก็ย่อมมีจำกัดมากขึ้น ทางเลือกของผู้บริโภคก็ย่อมมีน้อยลง  ซึ่งตรงนี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงผู้ประกอบการการท่องเที่ยวด้วย กล่าวคือ บริษัททัวร์จะมีทางเลือกในการจัดโปรแกรมทัวร์น้อยลง มีทางเลือกของผู้ให้บริการน้อยลง

มีข้อเสนอต่อกรมการบินพลเรือนอย่างไร
กรมการบินพลเรือนต้องศึกษามาตรฐานใหม่ของ ICAO แล้วก็ต้องไปปรับองค์กรตัวชี้วัดให้เทียบกับมาตรฐานสากล เราต้องเพิ่มมาตรฐานให้เป็นไปตามที่เขาวางไว้ ในส่่วนที่ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวก็คงต้องไปหาพันธมิตรใหม่ หาเส้นทางใหม่ๆ เข้ามาเพื่อจะมาป้อนในตลาด    
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง