"ก้าวไกล" เรียกร้องรัฐปรับมาตรการเยียวยาผลกระทบ COVID-19

การเมือง
15 เม.ย. 63
11:17
204
Logo Thai PBS
"ก้าวไกล" เรียกร้องรัฐปรับมาตรการเยียวยาผลกระทบ COVID-19
พรรคก้าวไกล เสนอ 4 แนวทาง ให้รัฐบาลเร่งปรับเกณฑ์มาตรการเยียว 5,000 บาท กระจายความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ให้ทั่วถึง

วันนี้ (15 เม.ย.2563) ทีมโฆษกพรรคก้าวไกล นำโดย นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล กรณีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน 5,000 บาท 4 แนวทางคือ 1.ขอให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนกรอบความคิดมาให้อยู่บนพื้นฐานการทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือเยียวยาประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพ และประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

2.ขอให้รัฐบาลยกเลิกกระบวนการพิสูจน์ความทุกข์ยากของประชาชน ยกเลิกเกณฑ์อาชีพที่เดิมรัฐบาลปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับเงินโดยถ้วนหน้า และรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงนักเรียน นักศึกษาที่หาเลี้ยงตนเอง และจุนเจือครอบครัว หากช่วยเหลือเยียวยารายละ 5,000 บาท จำนวน 14.5 ล้านคน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ก็จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 217,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่อยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถจัดสรรได้

3.ขอให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือเยียวยาแรงงานในระบบประกันสังคมที่มีอยู่ประมาณ 12 ล้านคน ที่ ณ ปัจจุบัน กำลังประสบปัญหารายได้ลดลง อันเนื่องมาจากถูกลดเงินเดือน ถูกสั่งให้หยุดงานบางวัน และจ่ายค่าแรงเพียงบางส่วน หรือถูกลดชั่วโมงทำงานล่วงเวลา และเร่งช่วยเหลือเยียวยาแรงงงานนอกระบบในภาคเกษตร ที่มีอยู่ราวๆ 11.5 ล้านคน

4.รัฐบาลควรเตรียมมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาเก็บตก สำหรับกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่เข้าไม่ถึงระบบการลงทะเบียนแบบออนไลน์ ให้สามารถลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ได้ และจัดหาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตอื่นๆ เช่น ศูนย์พักพิง ศูนย์กักกันโรค อาหาร น้ำดื่ม และของใช้จำเป็น เพื่อให้มั่นใจได้ว่า รัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัญญาเอาไว้

ขอยืนยันว่า จะใช้อำนาจนิติบัญญัติที่ประชาชนได้มอบความไว้วางใจให้จากการเลือกตั้งที่ผ่านมา ยืนเคียงข้างกับประชาชนในยามที่ประชาชนได้รับความทุกข์ยาก โดย ส.ส.ของพรรคก้าวไกลทุกคน จะลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อน และการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล รวมทั้งพรรคก้าวไกล ได้เปิดเว็บไซต์ www. ทำไมไม่ได้5พัน.com

เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและจะใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดผ่านกลไกของคณะกรรมาธิการสามัญ ตลอดจนการเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชนเพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมผ่านการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ พระราชกำหนดกู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 172 วรรคสาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง