คนเงียบ! เต่ามะเฟืองวางไข่ 11 รัง ทะเลภูเก็ต-พังงา สะอาดขึ้น

สิ่งแวดล้อม
15 เม.ย. 63
15:37
6,435
Logo Thai PBS
คนเงียบ! เต่ามะเฟืองวางไข่ 11 รัง ทะเลภูเก็ต-พังงา สะอาดขึ้น
ข่าวดี! กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยปิดชายหาดท่องเที่ยว ประชาชนงดลงทะเลช่วงผลพวง COVID-19 ชายหาดภูเก็ต-พังงาสะอาดขึ้น ทำให้เต่ามะเฟืองกลับมาวางไข่มากสุดในรอบ 2 ทศวรรษรวม 11 รัง ขณะที่พะยูน-โลมา จ.ตรัง โผล่โชว์ตัวถี่ขึ้น

วันนี้ (15 เม.ย.2563) นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้ปิดลง เนื่องจากรัฐบาลขอความร่วมมืออยู่บ้านเพื่อชาติ และงดการเดินทางการออกไปท่องเที่ยวตามชายหาดท่องเที่ยว เป็นผลดีในการลดผลกระทบจากการรบกวนกับการขึ้นมาวางไข่ การฟักไข่ของเต่าทะเลหายาก โดยเฉพาะเต่ามะเฟือง ในช่วงเพาะฟักและช่วงที่ลูกเต่ามะเฟืองฟักจากไข่ เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกมากขึ้น มีสมาธิ และไม่ต้องรับแรงกดดันให้ต้องช่วยเหลือลูกเต่า ผิดธรรมชาติจนเกินไป

ดีใจที่เต่ามะเฟืองไม่ได้หายไปไหน ขอฝากทุกภาคส่วนร่วมมือกันเป็นหูเป็นตาในการแจ้งเบาะแส ดูแลทรัพยากรทางทะเลเพื่อในอนาคตลูกเต่ามะเฟืองที่เราเคยดูแลเพาะฟักจะย้อนกลับมาวางไข่อีกครั้ง
 

ท่องเที่ยวลดวูบ สัตว์ทะเลโชว์ตัว

นายโสภณ กล่าวว่า  ถ้าถามว่าการลดลงของนักท่องเที่ยวตั้งแต่เกิดการระบาด COVID-19 มีส่วนทำให้เกิดผลดีหรือไม่ แต่หลักการการลดลงของนักท่องเที่ยว น่าจะมีผลดีต่อระบบนิเวศทางทะเล เพราะว่าเมื่อมนุษย์ใช้พื้นที่และทรัพยากรน้อยลง สัตว์ทะเลหายากก็ได้กลับมาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้มากขึ้น

ทช.ยังไม่ได้เก็บข้อมูลที่ชัดเจน ถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพชายหาดและระบบนิเวศทางทะเล หลังจากเกิดการระบาดที่ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง

ทั้งนี้จำนวนนักท่องเที่ยวน้อยลง ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งน้อยลง น้ำเน่าเสีย ของเสีย และขยะก็ลดลงตามไปด้วย จึงมีโอกาสที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งสัตว์ทะเลหายาก และระบบนิเวศทางทะเล ได้พักและฟื้นตัวกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง 

ครั้งแรกรอบ 2 ทศวรรษเต่าวางไข่ 11 รัง

ในช่วงที่ผ่านมาเราจะพบแม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ตามแนวชายฝั่งอันดามัน จ.ภูเก็ต และ จ.พังงา รวมทั้งสิ้น 11 รัง ก่อนที่ลูกเต่ามะเฟืองจะทยอยฟักออกมาและพากันคลานลงสู่ทะเลตรงกับช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังระบาดหนักไปทั่วประเทศ ลูกเต่ามะเฟืองเกิดใหม่ในฤดูนี้มีปริมาณมากกว่าฤดูไหนๆ ในรอบกว่า 2 ทศวรรษ

สำหรับปรากฏการณ์ฤดูวางไข่ ตั้งแต่กลางเดือน พ.ย.2562 มีรายงานว่าพบแม่เต่ามะเฟือง 4-5 ตัว ขึ้นวางไข่ 4 พื้นที่ ได้แก่ หาดบ่อดาน อ.ท้าย เหมือง จ.พังงา หาดท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา และหาดทรายแก้ว–หาดไม้ขาว-หาดในทอน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต รวมทั้งหมด 11 รัง (ถูกขโมย 1 รัง) แต่ละรังมีไข่ 60-120 ฟอง โดยรังแรกเกิดขึ้นเมื่อ 17 พ.ย.2562 และรังสุดท้ายเกิดขึ้น 10 ก.พ.2563 

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

นอกจากนี้ การกลับมาของแม่เต่ามะเฟืองและสัตว์ทะเลหายากในช่วงนี้ เป็นเครื่องพิสูจน์ที่ดีว่า มาตรการอนุรักษ์ที่เข้มข้นโดยเฉพาะการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวนั้นมีความจำเป็น โดยที่ผ่านมาเรามีมาตรการในระดับหนึ่งแล้วแต่สภาพแวดล้อมก็ยังเสื่อมโทรม แสดงว่าการอนุรักษ์ยังไม่เข้มข้นพอที่จะรักษาความสมบูรณ์ของทะเลเอาไว้ได้ การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวยังมีเฉพาะในพื้นที่อนุรักษ์ แต่ชายหาดสาธารณะต่างๆ เราไม่เคยมีแนวทางนี้ 

พะยูน-โลมารวมฝูง 

ขณะที่นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร โพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า พะยูนตัวใหญ่ในทะเลสีมรกต ในยามที่ทะเลไร้ผู้คน สัตว์หายากยังเริงร่าหากินอยู่ไม่ไกลจากชายฝั่ง จึงนำภาพล่าสุดของพะยูนในทะเลตรังมาฝากเพื่อนธรณ์ เป็นผลงานการสำรวจโดยศูนย์ปฏิบัติการอุทยานทางทะเล จ.ตรัง 

พะยูนเข้ามาตอนน้ำขึ้น เพื่อหากินหญ้าทะเลตามชายฝั่ง สังเกตจมูก 2 รูที่อยู่ด้านบน ช่วยให้เธอโผล่มาหายใจได้ง่าย

 

จากการสำรวจของกรมทะเลและกรมอุทยาน ตลอดจนอาสาสมัครและภาคประชาชนท้องถิ่น ในปี 62 พบพะยูนในทะเลตรัง 185 ตัว ถือเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์สงวนชนิดนี้สำคัญสุดของไทย

จากการสำรวจทั่วประเทศ ทะเลไทยมีพะยูน 261 ตัว และนี่คือทรัพยากรมีชีวิตของชาติไทย ที่พวกเราต้องช่วยกันดูแลสืบต่อไป ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน ทะเลไทยน่ารักเสมอครับ 

เช่นเดียวกับ นายก้องเกียรติ กิติวัฒนวงศ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยา กรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) โพสต์เฟซบุ๊ก Kongkiat Kittiwatanawong เมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า เพียงช่วงเวลา 2 เดือนของการไร้นักท่องเที่ยวรบกวน ทีมงานวิจัยพบว่าโลมาประจำถิ่นเกาะไม้ท่อน มีการรวมเป็นฝูงขนาดใหญ่กว่าเดิม โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนม.ค.ปีเดียวกัน 

 

 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง