"หมอประสิทธิ์" แนะรออีก 14 วันค่อยผ่อนปรนคุม COVID-19

สังคม
15 เม.ย. 63
21:29
5,277
Logo Thai PBS
"หมอประสิทธิ์" แนะรออีก 14 วันค่อยผ่อนปรนคุม COVID-19
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช แนะรออีก 14 วัน ค่อยวัดใจผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรค COVID-19 หลังแนวโน้มตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ลดลงต่อเนื่องในรอบ 1 เดือน ห่วงซ้ำรอยบางประเทศลดมาตรการเร็วคนป่วยกลับเพิ่ม

วันนี้ (15 เม.ย.2563) ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข้อมูลการวิเคราะห์สถาน การณ์การระบาดไวรัสโคโรนา (COVID-19) โดยพบว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ในไทยมีผู้ป่วยครบ 114 คน เมื่อกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ด้วยการตั้งสมติฐานว่าถ้าไทยไม่ทำอะไร ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของไทยเลยจะเดินตามเยอรมัน

ถ้าเพิ่มเฉลี่ยวันละ 33% จากนั้นนับมาอีก 30 วันไทยจะมีผู้ป่วย 300,000 คน ซึ่งจะเอาไม่อยู่ทั้งศักยภาพการรองรับเพื่อให้ควบคุมได้เป็นข้อมูลเสนอวันที่ 19 มี.ค.ว่าผู้ป่วยใหม่ต้องไม่เกิน 30 คนต่อวัน

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ความรุนแรงของการระบาดในประเทศไทย เริ่มลดลง หากเทียบกับอีกหลายประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น มาเลเซีย ที่เริ่มมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าไทย ทั้งที่ก่อนหน้านี้อยู่ในระดับเดียวกับไทย

วันที่ไทยมีผู้ป่วยเกิน 1,000 คน แต่วันเดียวกันมาเลเซียมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากถึง 2,000 คน ส่วนญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่ก่อนหน้านี้พบผู้ป่วยใหม่ค่อนข้างน้อย ก็เริ่มเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลัง

มาเลเซีย-อินโดนีเซียยังน่าห่วง 

คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช กล่าวอีกว่า ขณะที่เวียดนาม มีตัวเลขที่น่าสนใจ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยมากในระดับหลักร้อยเท่านั้น และยังใช้เวลานานกว่าที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อจากขยับจาก 100 เป็น 200 คน สาเหตุสำคัญมาจากการที่เวียดนาม ตั้งรับได้เร็ว จากการที่เริ่มประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคระบาดร้ายแรงของประเทศ และยกระดับมาตรการเข้มข้นทันที

จำนวนผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตสะสมสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน คือ อินโดนี เซีย ร้อยละ 9.49 รองลงมา คือ ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 6.41 มาเลเซีย ร้อยละ 1.64, ไทยร้อยละ 1.57 และสิงคโปร์ร้อยละ 0.31 ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิต ก็เป็นตัวบ่งชี้หนึ่งที่บ่งบอกความรุนแรงของสถานการณ์ และสัมพันธ์กับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่

หากมีอัตราการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นน้อยกว่าจำนวนผู้ป่วยที่ได้กลับบ้าน หมายความว่า จะมีพื้นที่ว่างในโรงพยาบาลมากขึ้น และบุคลากรด้านการแพทย์จะดูแลได้ดีขึ้น

ในทางกลับกัน ถ้าจำนวนผู้ป่วยใหม่เพิ่มเร็วกว่าจำนวนผู้ป่วยกลับบ้าน และสะสมจนเกินศักยภาพของโรงพยาบาล ก็จะสัมพันธ์กับจำนวนการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น
ภาพ:คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ภาพ:คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ภาพ:คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


แนะรอดูอีก 14 วันอย่าเพิ่งรีบผ่อนปรนมาตรการ

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไทยวางยุทธศาสตร์รับมือ 2 ด้านสำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ต้นน้ำ คือ การลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ให้ได้ และยุทธศาสตร์ปลายน้ำ คือ การทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตต่ำ และมีอัตราการกลับบ้านสูง โดยแม้การดำเนินมาตรการที่ผ่านมา รวมทั้งจิตสำนึกร่วมกันของคนไทย จะช่วยให้ไทยมีผู้ป่วยใหม่ลดลง แต่ก็เป็นเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น การใช้ทั้งมาตรการและจิตสำนึก ยังคงต้องทำควบคู่กัน

นอกจากนี้ คณบดีคณะแพทย ศาสตร์ศิริราช กล่าวว่า หากจะมีการปรับแนว ทางที่จะดำเนินการหลังจากนี้ ควรพิจารณาอัตราการพบผู้ป่วยใหม่ อัตราการเสียชีวิต อัตราการกลับบ้าน ในช่วง 14 วันหลังจากนี้ หรือจนถึงวันที่ 22 เม.ย. ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนมาตรการ รวมทั้งพิจารณาจุดสมดุลของการดูแลสุขภาพหรือการควบคุมเชื้อ ระบบเศรษฐกิจ และสภาพสังคมควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนี้ ก็ควรเป็นการปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยอาจให้เริ่มทำเฉพาะกิจกรรมที่สำคัญ และพร้อมที่จะกลับมาเข้มงวดอีกครั้งหากสถานการณ์การควบคุมเชื้อแย่ลง

เห็นตัวอย่างของประเทศที่ลดมาตรการเร็วเกินไป สิ่งที่เกิดขึ้น จำนวนผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการปล่อยให้คนเข้าประเทศ เป็นสิ่งที่ต้องระวัง แต่ถ้าอยู่ในระยะที่คุมได้ หากกระทบเศรษฐกิจ ก็อาจจะมีจุดที่นำมาพิจารณาประกอบ 
 
ภาพ:คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ภาพ:คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ภาพ:คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์  กล่าวว่า ถึงสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง คือ การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล การใส่หน้ากากและล้างมือ ขณะที่กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ ก็ยังควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน การลดลงอย่างต่อเนื่องของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่สวนทางกับสถานการณ์ความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจจากการใช้มาตรการปิดเมืองที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก

ทำให้ขณะนี้ เริ่มมีข้อเสนอผ่อนปรนมาตรการ เช่น ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เสนอให้ใช้กระบวนการ Crowdsourcing ในการหามาตรการที่เหมาะสมแบบค่อยเป็นค่อยไป


รวมถึงข้อเสนอของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอให้ตั้งคณะทำงานศึกษาทั้งมาตรการที่รัฐบาลออกไปก่อนหน้านี้ ว่าภาคเอกชนต้องการเสนออะไรเพิ่มเติม หรือการพิจารณาให้บางธุรกิจกลับมาเปิดเพื่อบรรเทาผลกระทบและการจ้างงาน

ขณะที่บางจังหวัดก็เริ่มออกประกาศผ่อนปรนมาตรการ เช่น จ.นนทบุรี ที่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 มี.ค.) มีการออกประกาศผ่อนปรนมาตรการบางกิจกรรม ก่อนจะยกเลิกประกาศดังกล่าวในวันถัดมา


 
อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรนมาตรการตามที่มีข้อเสนอจากหลายฝ่าย อาจต้องรอหลังจากวันที่ 30 เม.ย.นี้ หลังปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ออกหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ขอให้ยังคงดำเนินมาตรการตามประกาศคำสั่งที่ได้กำหนดไว้แล้วต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้

โดยยึดแนวทางปฏิบัติตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา และข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยเคร่งครัด พร้อมให้ปรับเวลาการขายของร้านสะดวกซื้อที่เคยประกาศแตกต่างกันในแต่ละจังหวัดให้สอดคล้องกับประกาศสถาน การณ์ฉุกเฉิน คือ ระหว่างเวลา 22.00 – 04.00 น. และให้มีผลถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้

 


 
 
.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง