รพ.รือเสาะ… ในวันที่คำขอร้องกลายเป็นเพียงเสียงกระซิบ

สังคม
16 เม.ย. 63
16:40
1,809
Logo Thai PBS
รพ.รือเสาะ… ในวันที่คำขอร้องกลายเป็นเพียงเสียงกระซิบ
ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้การสอบสวนโรคเป็นเรื่องที่ยากมาก ผู้ป่วยและญาติบางคนไม่ได้ให้ข้อมูลครบถ้วนแก่แพทย์ในช่วงต้น และการไม่แสดงอาการทันทีของไวรัส COVID-19 เมื่อสัมผัส ทำให้แพทย์ที่เป็นเหมือนคนตั้งรับ ต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยง

ตอนนี้ถ้าทำได้ ก็อยากขอร้อง เพราะอำนาจอยู่ในมือของทุกคน ถ้าไม่ช่วยกันตัดวงจร ไม่ช่วยกันเลิกทุกกิจกรรมทางสังคม หรือกิจกรรมทางศาสนาที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก สถานการณ์ก็อาจจะเลวร้ายมากกว่านี้

 

นพ.มาหะมะ เมาะมูลา ผอ.รพ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ในแววตาที่อิดโรย สะท้อนความรู้สึก เมื่อต้องสั่งปิดโรงพยาบาลชั่วคราว ไปจนถึงวันที่ 25 เม.ย.2563 เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ 28 คน ต้องถูกกักตัว 14 วัน

เพราะระหว่างการคัดกรองไวรัส และให้การรักษาในช่วงต้น ผู้ป่วยและญาติไม่ให้ข้อมูลครบถ้วน ต่อการระมัดระวังในการให้บริการทางการแพทย์ ทำให้แพทย์ 5 คน พยาบาลวิชาชีพ 15 คน นักวิชาการสาธารณสุข 1 คน พนักงานเปล 2 คน พนักงานประจำตึก 2 คน บุคลากรทางรังสี 1 คน และบุคลากรห้องชันสูตร 2 คนต้องถูกกักตัวรอดูอาการ

ตอนนี้เราปิดให้บริการสำหรับผู้ป่วยนอกทั้งหมด เหลือไว้แค่ห้องฉุกเฉิน และอาคารคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจ ซึ่งเข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ ที่เราจัดแยกออกมาจากอาคารรวม และผู้ป่วยเรื้อรังที่เดินทางมารับยา

 

แต่สำหรับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน หรือความดัน ทางโรงพยาบาลได้จัดยาให้ อสม.นำไปให้ถึงบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงของทั้งผู้ป่วย และแพทย์

นพ.มาหะมะเล่าว่า ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลที่มีประมาณ 250 คน ต้องทำงานอย่างหนัก และปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานจากที่เคยเป็นกลุ่มงาน มาเป็นการแบ่งตามภารกิจ เพื่อไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเครียดสะสม ในระหว่างที่ต้องดูแล และรักษาผู้ป่วยที่มีประมาณ 300 คนต่อวัน

ในช่วงที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้รับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 จำนวน 3 คน โดยคนแรกมีประวัติเดินทางกลับจากประกอบศาสนกิจ ที่ประเทศมาเลเซีย คนที่ 2 เป็นกลุ่มดาวะห์ ที่กลับจากประเทศอินโดนีเซีย และผู้ป่วยรายสุดท้าย ที่ทำให้ต้องกักตัวบุคลากรทางการแพทย์ พบว่า กลับจากประกอบศาสนกิจในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง

 

โรงพยาบาลรือเสาะ เป็นโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องปิดให้บริการชั่วคราว เพราะต้องกักตัวบุคลากรทางการแพทย์ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ทำให้กำลังของเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอที่จะดูแลผู้ป่วยทั่วไป

หลังจากก่อนหน้านี้ รพ.บันนังสตา จ.ยะลา ได้ปิดให้บริการชั่วคราว เมื่อวันที่ 26 มี.ค.2563 เพราะประสบปัญหาแบบเดียวกัน ทำให้บุคลากรทางแพทย์ ที่เปรียบเสมือนปราการด่านแรก ที่ต้องเผชิญความเสี่ยง ทำได้แค่เพียง “การขอร้องให้คนในชุมชนร่วมกันตัดวงจรของการระบาด ร้องขอจากผู้ป่วยและญาติให้เปิดเผยข้อมูลจริง แต่ก็ดูเหมือนว่าคำขอร้องนี้ จะแผ่วเบาเพียงเสียงกระซิบ”

ติชิลา พุทธสาระพันธ์
ผู้สื่อข่าว ศูนย์ข่าวภาคใต้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง