ห่วง “เครื่องบิน” จอดทิ้ง ความร้อนทำอุปกรณ์ชำรุด

เศรษฐกิจ
16 เม.ย. 63
21:05
3,027
Logo Thai PBS
ห่วง “เครื่องบิน” จอดทิ้ง ความร้อนทำอุปกรณ์ชำรุด
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในขณะนี้ ส่งผลกระทบทำให้การเดินทางเกือบทั้งโลกหยุดชะงัก หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงคงหนีไม่พ้นสายการบิน พาหนะเดินทางหลักระหว่างประเทศยุคปัจจุบัน

หากใครผ่านไปผ่านมาบริเวณสนามบินในกรุงเทพฯ ช่วงนี้ คงจะได้เห็นภาพที่ไม่คุ้นตาของเครื่องบินจำนวนมาก ที่จอดกันระเกะระกะเต็มลานบิน

เราจะมาลองดูกันว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการหยุดทำการบินในครั้งนี้มีอะไรบ้าง

เริ่มจากเครื่องบินเป็นยานพาหนะที่ถูกออกแบบ และสร้างมา เพื่อทำการบินอยู่บนท้องฟ้า ด้วยราคาที่สูง ทำให้หลายสายการบินเลือกใช้วิธีการเช่า หรือเช่าซื้อเครื่องบินจากบริษัทไฟแนนซ์ระดับโลก เพื่อนำมาทำการบินให้บริการ

เมื่อใดก็ตามที่เครื่องบินไม่ได้ทำการบิน เพื่อหารายได้ สายการบินก็ยังคงต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าเช่า หรือชำระหนี้ส่วนนี้อยู่ รวมทั้งค่าเช่าพื้นที่ลานจอดเครื่องบินภายในสนามบินด้วย

ในทางกลับกันสายการบิน ก็จะลดค่าใช้จ่ายในส่วนค่าเสื่อมราคา ของอุปกรณ์ต่างๆ ที่คิดตามจำนวนเที่ยวบินหรือชั่วโมงบิน และค่าใช้จ่ายในการทำการบิน เช่นค่าธรรมเนียมในการบินขึ้นลงสนามบิน

 

ในส่วนของอุปกรณ์ต่างๆ บนเครื่องบินก็มีความเสี่ยง ที่จะได้รับผลกระทบจากการนำเครื่องบินมาจอดนิ่งๆ อยู่บนพื้นเช่นกัน

ยางล้อเครื่องบิน ซึ่งต้องแบกรับน้ำหนักหลายสิบตันต่อเส้น และถูกกดทับนิ่งๆ เป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เนื้อยางเสื่อมสภาพได้ ชิ้นส่วนประกอบอื่นๆ ที่ทำจากยาง เช่น ยางโอริงของท่อต่างๆ ยางขอบกระจก ที่ปัดน้ำฝน ซิลิโคนซีลขอบของชิ้นส่วนต่างๆ ก็อาจเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควรเป็น ในสภาพแสงแดดที่ร้อนจัด และอากาศร้อนอย่างบ้านเรา

เนื่องจากโดยปกติแล้วเมื่อเครื่องบินขึ้นไปทำการบิน อุณหภูมิภายนอกก็จะเย็นจนติดลบ และอุณภูมิภายในห้องโดยสาร ก็จะมีความเย็นจากระบบปรับอากาศ การจอดเครื่องบินทิ้งไว้โดยไม่มีการใช้งาน โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อนชื้นแบบบ้านเรา ยังอาจก่อให้เกิดเชื้อราภายในห้องโดยสาร และอุปกรณ์ตกแต่งภายใน เช่น เบาะที่นั่งโดยสาร และผนังห้องโดยสารได้อีกด้วย

ระบบเชื้อเพลิงก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง เนื่องจากน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ที่สามารถก่อปัญหาตั้งแต่อุดตันระบบส่งเชื้อเพลิง ไปจนถึงการก่อให้เกิดสนิมและการผุกร่อนของโครงสร้างเครื่องบินได้

ระบบต่างๆ ที่ถูกออกแบบให้ต้องมีการเคลื่อนไหว เช่น ฐานล้อ เครื่องยนต์ และมอเตอร์ต่างๆ เมื่อไม่ได้ขยับหรือหมุนนานๆ ก็อาจจะเกิดติดขัด เนื่องจากสารหล่อลื่นแข็งตัวได้ หรือเกิดสนิมเกาะชิ้นส่วนได้

ทั้งหมดนี้จึงทำให้การดูแลรักษาเครื่องบินในสภาวะพิเศษนี้ ยุ่งยากมากกว่าการที่เครื่องบินทำการบินปกติพอสมควร

 

ผู้ผลิตเครื่องบินเองมีหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษา แก่สายการบินต่างๆ ซึ่งถือเป็นลูกค้าของตัวเอง ในการบำรุงรักษา และตรวจสอบสภาพของตัวเครื่องบิน อุปกรณ์ และระบบต่างๆ อยู่เสมอ

บางอุปกรณ์อาจจำเป็นต้องถอดออกมาเก็บรักษา ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ถังออกซิเจน ถังดับเพลิง และคอมพิวเตอร์ ในขณะที่บางอุปกรณ์ก็ต้องถูกใช้งานอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าเครื่องบินจะไม่ได้ทำการบิน เช่น การขยับเครื่องบินเพื่อเปลี่ยนหน้าสัมผัสของยาง การสตาร์ทเครื่องยนต์ การขยับมอเตอร์ควบคุมปีกและหาง ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักในการบิน

การทดสอบระบบเครื่องวัดประกอบการบิน การเติมสารหล่อลื่น และในกรณีที่เครื่องบินจำเป็นต้องจอดเป็นระยะเวลานาน ก็จำเป็นจะต้องมีการบินทดสอบแบบไม่มีผู้โดยสาร เพื่อให้แน่ใจว่าระบบต่างๆ ยังคงทำงานได้อย่างสมบูรณ์

 

เพียงเท่าที่ยกตัวอย่างมาให้ดูนี้ ก็นับว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับการดูแลรักษาเรื่องบินที่จอดอยู่ในสภาพนิ่งๆ เพราะการดูแลพาหนะราคาแพงเช่นนี้ ก็เท่ากับว่า ค่าบำรุงรักษาย่อมแพงขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย

หากว่า วันหนึ่งสถานการณ์ COVID-19 สงบลง และแต่ละสายการบินจะต้องออกบินรับผู้โดยสารตามปกติ นั่นหมายความว่า ทุกสายการบินจะต้องทุ่มเงินอีกจำนวนมหาศาล เพื่อการบำรุงรักษาหรือฟื้นสภาพเครื่องบินแต่ละลำอย่างแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง