เครือข่ายสลัม 4 ภาค เสนอรัฐทบทวนเยียวยาถ้วนหน้า-ทุกกลุ่ม

การเมือง
17 เม.ย. 63
14:33
844
Logo Thai PBS
เครือข่ายสลัม 4 ภาค เสนอรัฐทบทวนเยียวยาถ้วนหน้า-ทุกกลุ่ม
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ชี้รัฐเยียวยา 5,000 บาท ล้มเหลว คนเดือดร้อนเข้าไม่ถึงสิทธิ์ ระบบคัดกรองมีปัญหา เสนอให้ใช้ระบบเยียวยาถ้วนหน้า ได้ทุกคนทุกกลุ่ม

วันนี้ (17เม.ย.2563) เครือข่ายสลัม 4 ภาค และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ออกแถลงการณ์ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนมาตรการเยียวยาประชาชนให้ช่วยประสบภาวะการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เนื่องจากมาตรการเยียวยาคนละ 5,000 บาท ของรัฐบาลไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม การคัดกรองด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ล้มเหลวไม่สอดคล้องความเป็นจริง ทำให้ผู้เดือดร้อนที่แท้จริงหลายคนเสียโอกาส

โดยเรียกร้องให้รัฐบาลใช้แนวทางเยียวยาแบบสวัสดิการถ้วนหน้าเหมือนที่หลายประเทศใช้ในภาวะวิกฤต เพื่อให้ทุกคนได้รับการเยียวยา ประกอบด้วย 1.การเยียวยา 5,000 บาทใช้ระบบจ่ายแบบถ้วนหน้าให้ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อให้ครอบคลุมทุกคนทุกกลุ่ม 50 ล้านคน งบประมาณราว 250,000 ล้านบาท หรือใช้มาตรการจ่ายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าเดือนละ 3,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยแบ่งจากเส้นความยากจน งบประมาณ 300,000 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย และมีสวัสดิการรองรับให้งดรับสิทธินี้ได้ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี นักเรียน นักศึกษา ให้ได้รับเงินสนับสนุนค่าอุปกรณ์การศึกษา เพื่อใช้ในการเรียนที่บ้านช่วงเลื่อนเปิดเทอม ควรให้มีการลดค่าหน่วยกิตและค่าหอพัก

2.ลดค่าบริการสาธารณะ สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างน้อย 3 เดือน ทั้งค่าไฟ ค่าน้ำประปา ค่าเช่าบ้าน ค่าทางด่วน ค่ารถโดยสาร ค่าโทรศัพท์ รวมทั้งลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าจำเป็นขั้นพื้นฐานอย่างน้อย 6 เดือน ส่วนชุมชนที่ใช้มิเตอร์รวม ให้แจ้งสำนักงานไฟฟ้าหรือสำนักงานประปาในพื้นที่เพื่อขอรับส่วนลด
3.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้สถาบันการเงิน งดชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 เดือน ยุติการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย 12 เดือน ลดดอกเบี้ยหนี้สินเกษตรกร หนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้สินเชื่อผู้ประกอบการ SME

4.ผ่อนปรนให้มีการเปิดพื้นที่ค้าขายหรือตลาด แต่ให้เข้มงวดการจัดการพื้นที่ เว้นระยะห่าง เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาด เช่น การสวมหน้ากากอนามัย มีเจลหรือลล้างมืออย่างทั่วถึง และรัฐควรเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนสินค้ากันระหว่างชุมชน
5.ให้รัฐบาลออกประกาศห้ามเจ้าของที่ดินหรือหน่วยงานรัฐ ห้ามไล่ประชาชนออกจากที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัย กรณีที่ดินของหน่วยงานรัฐ ขอให้ยุติการเก็บค่าเช่าและการดำเนินคดี

6.งบประมาณที่จะออกมา 1.9 ล้านล้านบาท ในส่วนของ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเยียวยาและดูแลทางเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท ในงบประมาณเยียวยาและฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท ภาคประชาชนควรมีส่วนร่วมเพื่อให้การดำเนินงานโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยเสนอให้จัดตั้งกองทุนสนับสนุนการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยใช้กลไกผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สามารถเข้าถึงผู้ได้รับความเดือดร้อนได้โดยตรง

7.รัฐบาลควรพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมให้เป็นระบบถ้วนหน้า เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจนเป็นตัวแบ่ง เพื่อแก้ไขปัญหาครัวเรือนที่ประสบภาวะฝืดเคือง แบ่งเบาภาระได้ในระยะสั้นและระยะยาว โดยเงินสนับสนุนเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี 3.53 ล้านคน 600 บาทต่อคน ควรให้มีการจ่ายแบบถ้วนหน้า , เบี้ยคนพิการ 2.02 ล้านคน จำนวน 800 บาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีกำลังจะมีมติเพิ่มเป็น 1,000 บาท แต่มีคนเพียงครึ่งเดียวประมาณ 1 ล้านคนที่จะเข้าถึง เพราะให้เฉพาะผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งควรจะจ่ายแบบถ้วนหน้า

เบี้ยชีพผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้มีการเสนอ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ต่อรัฐสภาแล้ว เพื่อให้มีการจ่ายเงินแบบระบบทั่วหน้า , ขอให้สร้างระบบประกันสังคมถ้วนหน้าในภาวะวิกฤต โดยจูงใจแรงงานนอกระบบให้เป็นผู้ประกันตน โดยรัฐบาลจ่ายสมทบประมาณ 3 เดือน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง