ราคาข้าวเปลือกเจ้าสูงขึ้นในรอบ 10 ปี

เศรษฐกิจ
18 เม.ย. 63
11:52
10,037
Logo Thai PBS
ราคาข้าวเปลือกเจ้าสูงขึ้นในรอบ 10 ปี
กระทรวงพาณิชย์ ประชุมกับอุตสาหกรรมค้าข้าว หลังแนวโน้มราคาข้าวฤดูกาลใหม่ปรับสูงขึ้น จากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตลดลง ทำให้ราคาข้าวปีนี้ดีสุดในรอบ 10 ปี ภาคเอกชนยืนยันปริมาณข้าวเพียงพอบริโภคและส่งออก

วันนี้ (18 เม.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประชุมร่วมกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมข้าว และสมาคมชาวนา และเกษตรกรไทย เพื่อติดตามสถานการณ์ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และภาพรวมของการผลิต จำหน่ายในประเทศ และการส่งออก หากมีอุปสรรคก็จะมีแนวทางหรือมาตรการช่วยเหลือทุกกลุ่ม

 

 

โดยกรมการข้าวรายงานว่าสถานการณ์ผลผลิตข้าวในฤดูกาลใหม่ ปี 2563/2564 คาดการณ์ว่าผลผลิตจะลดลงจากเป้าหมายที่ 20.37 ล้านตันข้าวสาร จากปี 2562/2563 ที่ผลผลิตได้ 18.8 ล้านตัน เนื่องจากภัยแล้งและน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวใหม่ให้ลดลง แต่ยืนยันว่าปริมาณผลผลิตเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศจากความต้องการที่ 8 ล้านตัน และที่เหลือส่งออก 7.5 ล้านตัน

ราคาข้าวเปลือกเจ้าเฉลี่ยตันละ 10,800-11,000 บาท

นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยว่า ราคาข้าวเปลือกเจ้าในปีนี้สูงสุดในรอบ 10 ปี เฉลี่ยอยู่ที่ 10,800-11,000 บาทต่อตัน แม้ขณะนี้ราคาจะลดลงมาบ้างเหลือ 9,600 บาทต่อตัน แต่ยังครอบคลุมต้นทุนการเพาะปลูก หากราคาข้าวไม่ต่ำกว่าตันละ 8,000 บาท จะไม่ทำให้ชาวนาเดือดร้อน

 

 

ส่วนนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกเจ้าสูงขึ้นร้อยละ 20-30 ส่งผลให้ราคาข้าวสารสูงขึ้น 18,000 บาทต่อตัน หรือ 18 บาทต่อกิโลกรัม แต่ขณะนี้ราคาเริ่มลดลงเหลือ 16 บาทต่อกิโลกรัม และบางพื้นที่เหลือ 9,800 บาทต่อตัน

จัดโปรโมชั่นข้าวถุงไม่ให้ราคาสูงขึ้นกระทบผู้บริโภค

ขณะที่นายระพีพัชญ์ ธนถาวรกิติ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการข้าวบรรจุถุง กล่าวว่า แม้ราคาข้าวบรรจุถุงปรับสูงขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ในช่วงเดือน ก.พ. - มี.ค. แต่ผู้ประกอบการยังบริหารสต็อกไม่ให้ราคาข้าวสารบรรจุถุงสูงขึ้น แม้มีสต็อกต้นทุนเก่าอยู่ โดยห้างโมเดิร์นเทรดได้จัดโปรโมชั่นไม่ให้ราคาสูงขึ้นจนกระทบผู้บริโภค

 

 

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคม ผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์ส่งออกในไตรมาส 1/2563 จะต่ำกว่าที่ประเมินไว้ เพราะผลกระทบจาก COVID-19 ส่งผลให้เดือน ม.ค.ส่งได้ 5.5 แสนตัน, เดือน ก.พ. 4 แสนตัน และเดือน มี.ค. 5.8 แสนตัน เมื่อเทียบกับเป้าหมายทั้งปี 2563 คาดไว้ 7.5 ล้านตัน เท่ากับเฉลี่ยต้องส่งออก 6.2 แสนตันต่อเดือน และหากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายทำให้ระบบขนส่งทำได้ง่ายขึ้น และความต้องการนำเข้าจากต่างประเทศสูงขึ้น ในไตรมาส 2 ก็น่าจะกลับมาเป็นบวก เพราะหลายประเทศส่งออกชะลอส่งออก เช่น กัมพูชา เมียนมา และอินเดีย ลดการส่งออกข้าว จะส่งผลดีต่อส่งออกข้าวไทยขยับขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง