ชุมชนพึ่งตนเองด้านสุขภาพ ตั้งศูนย์ผลิตหน้ากากผ้า

ภูมิภาค
20 เม.ย. 63
11:19
487
Logo Thai PBS
ชุมชนพึ่งตนเองด้านสุขภาพ ตั้งศูนย์ผลิตหน้ากากผ้า
เครือข่ายภาคประชาสังคมในจังหวัดร้อยเอ็ด ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ตั้งศูนย์อบรมปฏิบัติการผลิตหน้ากากอนามัย เปิดให้ชาวบ้านมาฝึกเย็บหน้ากากผ้าใช้เอง จนเกิดกลุ่มอาสาผลิตหน้ากากแจกผู้ยากไร้และคนในชุมชน เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างชุมชนพึ่งตนเองด้านสุขภาพ

จิตอาสาตัดเย็บหน้ากากผ้า

นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา  พิศวาสดิ์ ศักดิ์คำดวง และ บรรจบ ทุ่งสูงเนิน ผู้สูงวัยในตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จะใช้เวลาว่างเกือบทุกวัน มาเย็บช่วยกันตัดเย็บหน้ากากผ้า ทั้งสองคนช่วยกันทำอย่างแข็งขัน วันนึงได้กว่า 100 ชิ้น เพื่อตั้งใจนำไปบริจาคให้ผู้ยากไร้ และชาวบ้านในชุมชนชนบทที่ขาดแคลน

พิศวาสดิ์บอกว่า ปกติเธอจะเปิดร้านเสริมสวย แต่เมื่อถูกสั่งปิด ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 เธอจึง สนใจมาฝึกตัดเย็บหน้ากากผ้า จากเดิมเพื่อหวังนำไปใช้ในครอบครัว แต่เมื่อพบว่าหลายชุมชนขาดแคลนหน้ากากอนามัย เธอจึงตัดสินใจมาเป็นจิตอาสา ตัดเย็บหน้ากากผ้าเพื่อนำไปแจกจ่าย ด้วยความหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือสังคมในช่วงที่ประสบวิกฤติโรคระบาด

ศูนย์อบรมปฏิบัติการผลิตหน้ากากอนามัย

ไม่ต่างจากชาวบ้านในตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อีกหลายคน ที่ตัดสินใจมาฝึกตัดเย็บหน้ากาก หลังทราบว่า เครือข่ายภาคประชาชนสังคม นำโดย นายตวง  อันทะไชย ประธานกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา – ประธานมูลนิธินาวาตรีสมาน กุนัน หรือจ่าแซม ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด  หอการค้าจังหวัดร้อยเอ็ด สมาพันธ์รถตู้แห่งประเทศไทย และแขวงทางหลวงร้อยเอ็ด ร่วมกันตั้งศูนย์อบรมปฏิบัติการผลิตหน้ากากอนามัย

โดยใช้สถานที่ สำนักงานที่ตั้งมูลนิธินาวาตรีสมาน กุนัน หรือจ่าแซม ตั้งอยู่ที่บ้านเปลือย หมู่ที่ 7 ตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด เป็นจุดรวมตัวของผู้ที่สนใจฝึกตัดเย็บหน้ากาก โดยมีวิทยากรอาสาจากสามาคมสื่อมวลชนจังหวัดร้อยเอ็ด และหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน หรือ 50 (5) สปสช. ทำหน้าที่สอนวิธีตัดเย็บหน้ากากผ้าในหลายรูปแบบ

ชาวบ้านบางคนก็นำผ้าทอพื้นเมืองที่มีอยู่ที่บ้านมาตัดเย็บ เพื่อที่จะนำหน้ากากผ้าส่งไปให้ลูกหลานที่ทำงานต่างจังหวัด เป็นของฝากที่แสดงถึงความห่วงใย

 

โมเดลชุมชนพึ่งตนเองด้านสุขภาพ

นายตวง  อันทะไชยเปิดเผยว่า ยังมีชาวบ้านผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงหน้ากากอนามัยของรัฐเป็นจำนวนมาก จึงได้น้อมนำแนวคิดตามศาสตร์พระราชา  ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง เมื่อขาดแคลนหน้ากาก ก็ต้องทำหน้ากากผ้าใช้เองได้ พึ่งตนเองได้ แทนการขอรับอย่างเดียว 

จึงได้ประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน  จัดตั้ง “ศูนย์อบรมปฏิบัติการผลิตหน้ากากอนามัย ร่วมใจต้าน COVID-19 จังหวัดร้อยเอ็ด” ขึ้น  โดยได้รับการสนับสนุนจักรเย็บผ้าจากภาคเอกชน จำนวน 6 ตัว จากนั้นหน่วยงานภาครัฐก็ช่วยเรื่องการจัดสถานที่ และจัดหาวัสดุ

นายธีระชัย แสนภูวา ท้องถิ่นจังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า หลังจากมีแนวคิดตั้งศูนย์ฯ เขาได้ไปขอรับบริจาคผ้าจากห้างร้านเอกชนที่ทำธุรกิจด้านตัดเย็บผ้า ซึ่งสนับสนุนผ้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้เห็นว่า นอกจากการทำงานตามนโยบายของรัฐแล้ว หน่วยงานราชการยังสามารถทำหน้าที่ร่วมกับภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชนได้

ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา จิตอาสา ศูนย์อบรมปฏิบัติการผลิตหน้ากากอนามัย จังหวัดร้อยเอ็ด สามารถผลิตหน้ากากผ้าได้กว่า 1 หมื่น 5 พันชิ้น นำไปแจกจ่ายประชาชนที่ขาดแคลน

ความสำเร็จของ ศูนย์อบรมปฏิบัติการผลิตหน้ากากอนามัย  ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคมร้อยแก่นสารสินธุ์ นำชาวบ้านในจังหวัดใกล้เคียงมาเรียนรู้ เพราะเชื่อว่านี่คือ รูปแบบของการสร้างโมเดลชุมชนพึ่งตนเองด้านสุขภาพ

นายนิรุจน์ อุทธา เครือข่ายภาคประชาสังคมร้อยแก่นสารสินธุ์ ระบุว่า การเกิดโรคระบาดครั้งนี้ ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคม และทำยิ่งทำให้เชื่อมั่นว่าการจัดการในระดับชุมชนเพื่อแก้ปัญหาด้วยตนเอง คือทางออกที่ทำได้รวดเร็ว กว่าการรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะภาครัฐมีระเบียบกฎเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกผู้ที่ควรได้รับความช่วยเหลือ ที่ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้มีกลุ่มที่เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ

นายนิรุจน์ ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน เครือข่ายภาคประชาสังคม พยายามผลักดัน แนวคิดกองทุนส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล โดยจะร่วมกันยกร่าง พ.ร.บ. กองทุนส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลพ.ศ. .. เพื่อกำหนดแนวทาง และบทบาทการทำงานของภาคประชาสังคมที่ชัดเจน มีกฎหมายรองรับ และมีกองทุน ที่สามารถบริหารจัดการโดยคณะทำงานระดับตำบล ที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมคิด และร่วมทำ สร้างความเข้มแข็งของชุมชน จากความร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหาด้านสุขภาพ

สอดคล้องกับ แนวคิดของนายตวง  อันทะไชย ประธานกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ที่เชื่อมั่นว่า ความเข้มแข็งของชุมชนคือคำตอบของการก้าวผ่านวิกฤติโรคระบาด ครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ความเข้มเข้มของรัฐบาล

 ต่อให้รัฐบาลเก่งแค่ไหน แต่ชุมชนไม่เข้มแข็ง ไม่ลุกขึ้นมาปกป้องตัวเอง ไม่มีวินัย ไม่รู้จักช่วยเหลือตัวเอง ไม่รู้จักการเว้นระยะห่างทางสังคม ไม่รู้จักการผลิตหน้ากากด้วยตนเอง ไม่รู้จักล้างมือ วิธีการแก้ปัญหามันต้องเป็นของชุมชนเองทั้งหมด คำตอบเรื่องนี้อยู่ที่หมู่บ้าน ส่วนราชการมีหน้าที่ส่งเสริมเท่านั้น

 

ศูนย์อบรมปฏิบัติการผลิตหน้ากากอนามัย จังหวัดร้อยเอ็ด ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโมเดลชุมชนพึ่งตนเองด้านสุขภาพ ซึ่งแนวคิดนี้จะถูกขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เพราะภาคประชาสังคมเชื่อว่า การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน คือการเตรียมพร้อมรับมือกับทุกปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ข่าวที่เกี่ยวข้อง