กรมการแพทย์แนะ 5 อ. ดูแลผู้สูงอายุช่วง COVID-19

สังคม
20 เม.ย. 63
15:20
2,136
Logo Thai PBS
กรมการแพทย์แนะ 5 อ. ดูแลผู้สูงอายุช่วง COVID-19
อธิบดีกรมการแพทย์ แนะดูแลผู้สูงอายุตามหลัก 5 อ. หวังลดความเสี่ยงติดเชื้อไวรัส COVID-19 หลังพบอัตราเสียชีวิตผู้ป่วยอายุ 80 - 89 ปี สูงถึง 24% พร้อมประสานโรงพยาบาลทุกสังกัดให้บริการเน้นรักษาผู้สูงอายุที่ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้าน หวังพัฒนาเป็น New Normal

วันนี้ (20 เม.ย.63) เวลา 13.35 น. สธ.แถลง COVID-19 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า กลุ่มผู้ป่วย COVID-19 ในไทยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุวัยทำงาน แต่กลุ่มที่มีการเสียชีวิตมากที่สุด คือกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป โดยคิดเป็นร้อยละ 12.1 ขณะที่ผู้ป่วยอายุ 80-89 ปี จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 24 หรือหมายถึงคนอายุเกิน 80 ปี หากป่วย COVID-19 จำนวน 4 คน เสียชีวิต 1 คน


นพ.สมศักดิ์ ระบุว่า จะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงเสียชีวิต ดังนั้น จึงควรดูแลตามหลักการโดยเน้น 2 ส่วนคือ การป้องกันติดเชื้อ และป้องกันร่างกาย-สมองถดถอยช่วงเก็บตัวอยู่บ้าน ผ่าน 5 อ.คือ

  • อาหาร เน้นรับประทานโปรตีนมากขึ้น
  • อารมณ์ พยายามอย่าเครียด
  • ออกกำลังกาย ภายในบ้าน เดินซอยเท้าอยู่กับที่ หรือแกว่งแขนไปมา
  • เอนกายพักผ่อน นอนพักผ่อนให้ได้วันละ 7-9 ชม.
  • ออกห่างสังคมนอกบ้าน ไม่ออกไปนอกบ้าน หรือหากจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เสมอ


สำหรับปัจจัยเสี่ยงของกลุ่มผู้สูงอายุ แบ่งออกได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มช่วยเหลือตนเองได้ดี สภาพร่างกายปกติ แต่พลังสำรองในร่างกายน้อย กลุ่มนี้มีโอกาสเจ็บป่วยและเสียชีวิตสูง เพราะชอบออกนอกบ้าน เข้าสังคม ไปหาเพื่อนบ้าน แนะนำให้พยายามเก็บตัวอยู่บ้าน

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มติดบ้าน กลุ่มนี้มีโอกาสติดเชื้อจากภายนอกน้อย แต่สิ่งที่ต้องระวังคือวัยรุ่นหรือคนในบ้านไปนำเชื่อจากข้างนอกเข้ามาติด ดังนั้นขอให้คนที่ออกจากบ้านระวังความสะอาด กลับมารีบอาบน้ำ สระผม ทำความสะอาดร่างกายทันที


กลุ่มที่ 3 กลุ่มติดเตียง โดยมีทั้งกลุมที่ต้องดูแลในบ้าน ซึ่งปกติจะมีคนดูแลใกล้ชิด ต้องป้องกันตัว เว้นระยะห่างให้ดี และระวังการเปลี่ยนคนดูแลซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อได้ ส่วนกลุ่มที่ดูแลที่สถานดูแลผู้สูงอายุ ต้องคัดกรองคนเยี่ยมและบุคลากร และเฝ้าดูอาการต่อเนื่อง

ผู้สูงอายุ หากมีอายุมากๆ เมื่อติดเชื้อ อาการป่วยอาจไม่ตรงไปตรงมา โดยอาจไม่มีไข้ ไม่ไอชัดเจน จึงควรสังเกตอาการดังนี้ หายใจเร็วหรือหอบ อ่อนเพลีย กินข้าวได้น้อยลง อารมณ์เปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากพบผิดปกติสามารถปรึกษาสายด่วนกรมการแพทย์ โทร.1668หรือ สายด่วนศูนย์นเรนทร โทร.1669 

 

จัดระบบ รพ.ดูแลผู้สูงอายุป่วยเรื้อรังช่วง COVID-19

สำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง โรงพยาบาลทั่วประเทศได้เริ่มปรับรูปแบบการให้บริการ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกผู้ป่วยอาการทั่วไปดีและคงที่ สามารถลงทะเบียนส่งยาถึงบ้านทางไปรษณีย์ รับยาร้านยาใกล้บ้าน และสามารถเลื่อนนัดให้นานขึ้น รวมถึงปรึกษาทางไกลได้

กลุ่มผู้ป่วยอาการแย่ลง มีความจำเป็นจริงๆ อาจต้องให้บริการถึงบ้าน หรือนัดคนไข้มาที่โรงพยาบาลในช่วงที่คนไข้ในโรงพยาบาลไม่หนาแน่น หรือให้คำปรึกษาทางไกล สุดท้ายคือกลุ่ม ผู้ป่วยรุนแรง ฉุกเฉิน สามารถเข้ารับบริการห้องฉุกเฉินได้ปกติ แต่ต้องได้รับการคัดกรอกเพิ่มขึ้น

พลิกวิกฤต COVID-19 พัฒนา New Normal Medical Service

นพ.สมศักดิ์ ระบุว่า มาตรการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยเรื้อรังช่วง COVID-19 จะเป็นพื้นฐานนำไปสู่ New Normal Medical Service คือจะเป็นการแบ่งกลุ่มและจัดบริการตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล และจะมีการพัฒนาระบบข้อมูลด้านสุขภาพ มุ่งเน้นให้คนไข้ตรวจสอบข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ผ่านโทรศัพท์และการเชื่อมโยงข้อมูลในโรงพยาบาลต่างๆ


นอกจากนี้ ยังเตรียมพัฒนาระบบสนับสนุนการดูแลตนเอง เป็นแอปพลิเคชันเฉพาะ เช่น โรคเบาหวาน จะมีให้สกรีนตัวเองว่าเสี่ยงมากจนต้องไปโรงพยาบาลหรือยัง รวมถึงพัฒนาระบบ tracking ระบบติดตามรายบุคคลเพิ่มเติมด้วย


ส่วนการพัฒนาระบบของโรงพยาบาล จะเน้นเพิ่มการเข้าถึงบริการง่ายขึ้น โดยมีการลงทะเบียนออนไลน์ นัดหมายล่วงหน้าออนไลน์ ตรวจ Lab แบบ drive thru รวมถึงการส่งยาทางไปรษณีย์และปรึกษาทางไกล



นอกจากนี้ จะมีการบริหารจัดการเตียงร่วมกันของโรงพยาบาลทุกสังกัด เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล และสุดท้ายคือการยกระดับความปลอดภัย ซึ่งต้องจัดสถานที่ อุปกรณ์ป้องกัน รองรับผู้ป่วยที่ไม่ได้มาผ่าตัดหรือไม่ได้รักษาในช่วง COVID-19


สธ.มุ่งเน้นจะปรับจาก Hospital Based เป็น Personal Based คือ ลดการมาโรงพยาบาลและดูแลผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 แต่ยังสามารถมีสุขภาพดีที่บ้านได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง