"ข้ามแม่น้ำมาเป็นจำเลย" ทางกลับบ้านที่เลือกไม่ได้

สังคม
21 เม.ย. 63
14:31
1,186
Logo Thai PBS
"ข้ามแม่น้ำมาเป็นจำเลย" ทางกลับบ้านที่เลือกไม่ได้
เมื่อไวรัส COVID-19 เริ่มระบาดในมาเลเซีย จนรัฐบาลสั่งปิดประเทศ แรงงานไทยจากภาคใต้ ที่เข้าไปทำงานที่นั่น ต้องเดินทางกลับเข้ามา ในจำนวนนี้มีทั้งคนที่มีเงินจ่ายค่าเอกสาร เพื่อผ่านด่านพรมแดนเข้ามา แต่ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีเงินสำหรับกระบวนการดังกล่าว
ผมกับเพื่อนมารอหน้าด่านฝั่งมาเลเซียมา 2 วันเเล้ว ทางมาเลเซียก็จำกัดให้ออกเเค่วันละ 100 คน คนมารอกัน 3-4 รถบัสทางด่านฝั่งโน้น ผมไม่มีใบรับรองเเพทย์ด้วย มันยุ่งยาก ต้องจ่ายเงิน เเต่ผมไม่มีเงินเลย เพราะร้านต้มยำมันปิดหมด เลยตัดสินใจหนีมาทางเเม่น้ำโก-ลก

หนึ่งในแรงงานไทยในมาเลเซีย บอกเล่าความรู้สึก หลังตัดสินใจข้ามแม่น้ำโก-ลกมายังฝั่งไทย พร้อมเพื่อนอีก 2 คน แม้จะรู้ดีสิ่งที่ทำผิดกฎหมาย เพราะเป็นการหลบหนีเข้าเมือง

 

มาเลเซียปิดประเทศ แรงงานไทยต้องกลับบ้าน

แรงงานไทยเล่าว่า ตลอด 1 เดือน ที่มาเลเซียปิดประเทศ ทำให้ร้านอาหารต้มยำกุ้งที่ตัวเองทำงานรับจ้างเป็นรายวัน ต้องปิดกิจการลง จึงแทบไม่มีเงิน และก่อนหน้านี้ ก็ได้ลงทะเบียนออนไลน์กับทางสถานทูตแล้ว แต่การจำกัดจำนวนคนเข้าประเทศไม่เกิน 100 คนต่อวัน ทำให้กว่าจะถึงคิวเวลานัด ก็อีกหลายสัปดาห์

แต่เงินที่มีก็เริ่มหมดลง ทำให้เขาและเพื่อนตัดสินใจมารอหน้าด่านพรมแดน แม้จะไม่ถึงกำหนดวันที่ทางสถานทูตนัด และขาดเอกสารสำคัญ อย่างใบรับรองแพทย์ เพราะไม่มีเงินไปหาหมอ

จึงตัดสินใจเสี่ยงดวง ข้ามแม่น้ำโก-ลกมา แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ขณะพยายามหารถประจำทางกลับบ้านที่ จ.ปัตตานี ก่อนจะถูกนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบไวรัส COVID-19 ที่ด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก

การปิดกิจการของธุรกิจเกือบทุกแห่งในมาเลเซีย โดยเฉพาะร้านต้มยำกุ้ง ทำให้แรงงานไทยในมาเลเซีย ทั้งแรงงานที่เดินทางไปทำงานถูกต้องตามกฎหมาย และผิดกฎหมายได้รับผลกระทบอย่างหนัก

โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มหาเช้ากินค่ำ ในร้านอาหารต้มยำกุ้ง หรือแรงงานในกลุ่มภาคการเกษตร เช่น ประมง หรือเป็นแรงงานในสวนยางพารา หรือ ปาล์มน้ำมัน พยายามหาทางกลับประเทศ

 

เอกสารที่รัฐกำหนด คือค่าใช้จ่าย

แม้บางคนจะรู้ดีว่า เอกสารการเข้าเมืองไม่ครบตามระเบียบ คือจะต้องลงทะเบียนผ่านสถานทูต หรือสถานกงสุลไทยในมาเลเซีย หรือต้องมีใบรับรองแพทย์ บางคนหนังสือผ่านแดนหมดอายุ หรือ บางคนไม่ผ่านการประทับตราในหนังสือเดินทางทั้งออกจากมาเลเซีย และเข้าประเทศฝั่งไทย ซ้ำร้ายบางคนก็ถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอก โดยอ้างว่า สามารถทำเอกสารผ่านแดนได้ แม้จะมีเอกสารไม่ครบตามระเบียบ

การเปิดด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก วันแรก (18 เม.ย.2563) มีผู้เดินทางเข้าประเทศ ทั้งในและนอกระบบกว่า 300 คน ส่งผลทำให้การคัดกรองผู้ที่มีเอกสารเดินทางเข้าประเทศถูกต้องซึ่งแจ้งไว้ 91 คน ต้องล่าช้าออกไป และมีเพียง 48 คนเท่านั้น ที่เข้าประเทศได้ตามเวลาที่กำหนด ส่วนที่เหลือต้องตกค้างในฝั่งมาเลเซีย

ขณะที่กลุ่มคนที่ไม่ผ่านระบบ หรือ มีเอกสารไม่ถูกต้อง ที่ปะปนผ่านด่านพรมแดน กว่า 300 คน ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องนำกลุ่มคนเหล่านี้ เข้าสู่ขั้นตอนการดำเนินคดีตามกฎหมาย และกระบวนการคัดกรองไวรัส COVID-19 จนทำให้เวลาล่วงเลยมาจนถึงเวลา 02.00 น. จากกำหนดการเดิมที่จะให้แล้วเสร็จไม่เกิน 18.00 น. เพื่อส่งตัวไปยังจังหวัดตามภูมิลำเนา

 

นอกจากนี้ จากการคัดกรองอุณหภูมิในร่างกาย ของผู้ที่เดินทางเข้าประเทศในวันแรกซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมาย บริเวณด่านพรมแดนสุไหงโก-ลกวันแรก พบมีไข้ 3 คน จึงต้องส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบไวรัสโควิดซ้ำ

“หนีลงแม่น้ำ” ทางกลับบ้านที่เลือกไม่ได้

การเข้าถึงข้อมูลในมาเลเซีย หรือการเดินทางระหว่างรัฐเมื่อมาเลเซียปิดประเทศอาจยุ่งยากกว่าบ้านเรา และการขอเอกสารทางการแพทย์ที่ต้องเสียค่าใช้ ทำให้บางคนคิดง่าย ๆ ว่า “มาลงคลองดีกว่า” หนีมาตามเส้นทางธรรมชาติดีกว่า เพราะบ้านเรากับมาเลเซีย มีแม่น้ำโก-ลกยาวกว่า 90 กิโลเมตร และมันก็เป็นเรื่องยากที่กำลังของเจ้าหน้าที่ที่มีจำกัด และมีหลายภารกิจ จะดูแลได้ทั้งหมด

พ.ต.อ.ศุภกร พึ่งรศ ผกก.สภ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส กล่าว

ปัญหาการทะลักของคนไทยที่เดินทางมาไม่ถูกต้อง ทำให้วันถัดมา (19 เม.ย.2563) ตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก และตำรวจภูธรภาค 9 ต้องจัดทำช่องทางพิเศษ บริเวณด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก เพื่อเข้ามาดำเนินการอย่างจริงจังกับกลุ่มคนนอกระบบ

ยอมถูกดำเนินคดี ข้อหาหลบหนีเข้าเมือง

ทั้งการสอบสวนประวัติการเดินทาง เก็บตัวอย่างน้ำลาย เพื่อตรวจสอบสารพันธุกรรมป้องกันการสวมรอยเข้าประเทศ และจำเป็นต้องดำเนินคดีอาญา ในข้อหาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

ซึ่งมีโทษเปรียบเทียบปรับตั้งแต่ 800 บาทขึ้นไป แต่หากผู้ใดไม่มีเงินเสียค่าปรับ ก็จำเป็นต้องส่งฟ้องศาล หลังจากนั้นทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรองโรค และกักตัว 14 วัน เหมือนคนไทยคนอื่นๆ

เราไม่มีทางเลือก เขาเป็นคนไทย เขามาแล้ว เราก็ต้องรับ แต่คนที่เข้ามาก็ต้องยอมรับว่า ตัวเองเข้าเมืองมาไม่ถูกต้องเหมือนคนอื่น แต่เราต้องหาวิธีว่าทำยังไงก็ได้ ไม่ให้คนเหล่านี้ หลุดการคัดกรองโรคออกไป เพราะเราไม่รู้ว่าเขาติดไวรัสหรือไม่ จึงต้องให้ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกระบบ ต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง และกักตัว 14 วันเหมือนกันทุกคน

พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาค 4 กล่าว หลังการประชุมร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อรับมือกับการเดินทางเข้าประเทศของคนไทยนอกระบบ ที่คาดว่ามีไม่ต่ำกว่า 5,000 คน ซึ่งอาจทะลักเข้าไทย

คนทำถูกกฎหมาย ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่จะได้รับการดูแล

แต่สำหรับแรงงานไทยในมาเลเซีย ที่เดินทางมาถูกต้องตามระเบียบที่ทางราชการกำหนด ให้ข้อมูลว่า การเดินทางมาตามเงื่อนไข แม้จะยุ่งยากอยู่บ้าง โดยเฉพาะการยื่นแบบออนไลน์ผ่านสถานทูตที่ต้องทำหลายๆ ครั้ง หรือบางครั้งระบบก็เกิดขัดข้อง รวมถึงการขอใบรับรองแพทย์ที่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และเสียค่าเดินทาง แต่ทำตามระเบียบก็จะได้รับการดูแล และช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่ออกจากประเทศมาเลเซียมายังฝั่งไทย

มันยุ่งยากตอนลงทะเบียน ต้องลงหลายๆ ครั้ง แต่พอลงทะเบียนไปแล้ว และขอใบรับรองแพทย์จากทางมาเลเซีย ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 30 ริงกิต ทางสถานทูตก็จะนัดวัน เวลา และจุดให้คนไทยมาขึ้นรถ ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเราและลูกมาขึ้นรถตามเวลานัด ตั้งแต่เมื่อคืน และมาถึงที่ด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก ตอนเช้า เค้าก็ดูแลทุกอย่างทั้งอาหาร ทั้งรถที่มาส่ง

 

การระบาดในมาเลเซียก็น่ากลัว

นายณุดียะ เจ๊ะมะ ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าว หลังเดินทางกลับเข้าไทย พร้อมลูก วัย 10 และ 13 ขวบ อย่างถูกต้องตามระเบียบ และพร้อมจะทำตามเงื่อนไขเข้าสู่กระบวนการกักตัว 14 วัน เพราะในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา การใช้ชีวิตโดยไม่มีงานทำในมาเลเซียลำบากอย่างมาก ยังโชคดีอยู่บ้าง ที่นายจ้างให้ข้าวสารมาประทังชีวิตกับลูก แต่ความหวาดกลัว หลังการระบาดของไวรัส COVID-19 ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้เธอไม่กล้าออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน จึงได้แต่อดทนรอที่จะกลับบ้านโดยถูกต้องตามกฎหมาย

การปล่อยให้คนเข้าโดยไม่มีใบรับรองแพทย์ หรือไม่จำกัดจำนวนคนเข้าประเทศ มันอาจจะทำให้เกิดความยุ่งยาก ต่อการควบคุมโรคระบาด โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากรัฐที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัส หรือทำงานในสถานที่พบการระบาด หรือ เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาที่พบผู้ติดเชื้อ ลองคิดเล่นๆ ถ้าคนเข้ามา 100 คน หลุดไปแค่ 10 คน แล้วใช้ชีวิตปกติในชุมชนสามจังหวัดชายแดนใต้ จะเกิดอะไรขึ้น

ข้าราชการฝ่ายปกครองรายหนึ่ง ให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอส ถึงความจำเป็นที่ต้องวางเงื่อนไขในการเข้าประเทศ แต่สิ่งสำคัญคือ ภาครัฐจะต้องสื่อสารไปยังคงไทยในมาเลเซีย ถึงกระบวนการช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานไทยในมาเลเซีย และสื่อสารสร้างความเข้าใจถึงเงื่อนไขที่ราชการกำหนด ทั้งการลงทะเบียนออนไลน์ผ่านสถานทูต ที่ต้องจำกัดจำนวนผู้ที่ผ่านแดนเพื่อสะดวกต่อการคัดกรองของเจ้าหน้าที่ และทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการคนจำนวนมากในพื้นที่กักตัวแต่ละแห่ง รวมถึงใบรับรองแพทย์จากมาเลเซีย

 

เพื่อความปลอดภัยของคนไทยคนอื่นๆ ที่จะเดินทางมาพร้อมกันในรถ ที่ทางสถานทูตจัดไว้รับส่งในทุกพื้นที่ของมาเลเซียมายังด่านพรมแดน และเจ้าหน้าที่ที่คอยอำนวยความสะดวก ตั้งแต่การเดินทางจากมาเลเซีย จนเข้าสู่กระบวนการสุดท้ายในการกักตัวครบ 14 วัน ซึ่งไม่เสียค่าใช้จ่ายใดใดทั้งสิ้น

เพื่อให้ทุกคนได้ “กลับบ้าน และเป็นการกลับบ้านที่ปลอดภัย”

ติชิลา พุทธสาระพันธ์
ผู้สื่อข่าว ศูนย์ข่าวภาคใต้ไทยพีบีเอส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง