ศบค.เผยหมอ-ประชาชนเครียดหนักจากโรคร้อยละ 5-6

สังคม
22 เม.ย. 63
13:18
1,805
Logo Thai PBS
ศบค.เผยหมอ-ประชาชนเครียดหนักจากโรคร้อยละ 5-6
โฆษก ศบค.แถลงวันนี้ (22 เม.ย.) พบมีผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มอีกเพียง 15 คน รวมตัวเลขสะสม 2,826 คน ขณะที่มีผู้ป่วยหายกลับบ้านรวม 2,352 คน เสียชีวิต 1 คน ขณะที่มีผลสำรวจระดับความเครียดของประชาชน ในช่วงเดือนเม.ย.มีมากถึง 6% ส่วนหมอ 5% จากช่วงเคอร์ฟิว

วันนี้ (22 เม.ย.2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ว่าภาพรวมสถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อ 2,555,568 คน เสียชีวิต 177,402 คน โดยสหรัฐอเมริกา ยังมียอด ติดเชื้อ 817,952 คน เสียชีวิต 45,279 คน 

ส่วนไทยยังอยู่ในอันดับที่ 55 ของโลกพบมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นพียง 15 คน ผู้ป่วยสะสม 2,826 คน หายป่วยกลับบ้านเพิ่มอีก 244 คน รวมหายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,352 คน เสียชีวิต เพิ่ม 1 คนรวม 49 คนขณะที่ประเทศในแถบเอเชีย ญี่ปุ่น มีผู้ติดเชื้อวันเดียวเพิ่ม 338 คน รวม 11,135 คน ส่วนสิงคโปร์น่าเป็นห่วงมาก ตอนนี้ปรับไปอยู่ในอันดับ 31 ของโลก 9135 ตัวเลขป่วยวันเดียว 1,111 ตาย 11 คน

แนวโน้มดี 36 จังหวัดไม่มีผู้ป่วยรายใหม่

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับผู้เสียชีวิต 1 คน เป็นหญิงไทยอายุ 58 ปี อาชีพแม่บ้าน มีโรคเบาหวาน ความดัน ไขมันในเลือดสูง และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดลูกสาวที่เป็นผู้ป่วยยืนยันเข้ารักษา 22 มี.ค.และได้รับการยืนยันติดเชื้อ เมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นอาการแย่ลง และเสียชีวิต ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15 คน แบ่งเป็นใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 10 คน คนไทยกลับจากต่างประเทศ 1 คน ไปสถานที่ชุมชน เช่น ตลาดนัด 1 คน อาชีพเสี่ยง พนักงานขาย ขนส่งสินค้า ทำงานกับนักท่องเที่ยว 3 คน

นอกจากนี้ใน 14 จังหวัดมีรายงานผู้ป่วยในช่วง 7 วัน เช่น กทม. นนทบุรี ภูเก็ต, 18 จังหวัด มีรายงานผู้ป่วยช่วง 7-14 วัน และ 9 จังหวัดที่ไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ 36 จังหวัด ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในช่วง 14 วันคือ จ.นครราชสีมา และปรับ จ.พระนครศรีอยุธยา ที่พบผู้ติดเชื้อใหม่ในวันนี้ กทม. และนนทบุรี พบผู้ติดเชื้อสูงสุด ส่วนภาคใต้มีแนวโน้มลดลง

คนตรวจหาเชื้อนานสุด 28 วัน

โฆษก ศบค.กล่าวว่า จากการทำข้อมูลทางระบาดวิทยา ที่มีการวิเคราะห์ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา ตั้งแต่เริ่มมีอาการจนถึงวันที่ได้เก็บตัวอย่างทางห้องปฏิบัติการ จำนวน 542 จาก 2,000 กว่าคนที่ป่วย จำแนกได้ว่านับตั้งแต่วันแรกที่มีอาหารป่วย และตัดสินใจตรวจล่วงเข้าวันที่ 4 และนานสุดคือ 28 วันหรือเกือบ 1 เดือนถึงเข้าไปตรวจ

นั่นหมายความว่ามีอาการตั้งแต่ 4 วันถึง 28 วันที่เข้าไปตรวจหาเช้อ ในระหว่างที่ไปตรวจแล้วเจอมีความสุ่มเสี่ยงที่จะไปแพร่เชื่อกับบุคคลอื่น  

นิยามเข้าตรวจ COVID-19 ฟรี

ดังนั้นสิ่งที่เพิ่มเติมจากตรงส่วนนี้ คือเพื่อให้ประชาชนเดินเข้าไปตรวจหาเชื้อ COVID-19 ได้ ตอนนี้มีการออกนิยามผู้สงสัยติดเชื้อสำหรับประชาชนทั่วไปที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) ดังนี้ มีไข้ อุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียส ร่วมกับมีอาการไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ร่วมกับปัจจัยเสี่ยง เช่น ในช่วงเวลา 14 วันไปสถานที่เสี่ยง สถานที่แออัด ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ตลาดนัด หรือทำงานกับนักท่องเที่ยว

ประชาชนที่มีอาการตามนิยามดังกล่าวสามารถเข้าตรวจฟรีได้โดย สปสช.รับผิดชอบในการตรวจให้กับทุกคน เพื่อที่จะดึงเข้ามา เพราะเปิดแล้วตอนนี้มีการทำแลบและชุดตรวจสามารถตรวจเพิ่มได้ 100 แห่งรวมทั้งในกทม.และปริมณฑล เพื่อช่วยคัดกรองอย่างดี 

นอกจากนี้นพ.ทวีศิลป์ ยังระบุอีกว่า นอกจากนี้จากการทำข้อมูลสถานที่แออัด หรือสถานที่ชุมนุมชนที่ผู้ป่วยแจ้งว่าเคยเดินทางไปในช่วง 14 วันก่อนเริ่มป่วย (จากตัวเลขผู้ป่วย 84) พบข้อมูล ดังนี้ กทม. คือ สถานบันเทิง สถานที่ท่องเที่ยว เช่น ทองหล่อ สนามมวย สถานที่มั่วสุมเล่นการพนัน ตลาด ห้างสรรพสินค้่ ฟิตเนส ร้านเสริมสวย มหาวิทยาลัย สถานพยาบาล ขนส่งสาธารณะ

ส่วนของต่างจังหวัด คือ สถานบันเทิง สนามมวย สถานที่มั่วสุมเล่นการพนัน ห้างสรรพสินค้า พื้นที่ท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต หาดใหญ่ สงขลา ชะอำ สถานที่ทำงาน สถานพยาบาล วัด มัสยิด สถานที่แออัด สถานที่มั่วสุมเล่นการพนัน  

ประชาชน-บุคลากรแพทย์มีภาวะเครียด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตสำรวจความเครียดครั้งที่ 3 วันที่ 13-19 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข และประชาชน ในวัยทำงาน มีทั้งเพศหญิงและเพศชาย พบว่าบุคลากรสาธารณสุข มีความเครียดมาก โดยเทียบระหว่างเดือน มี.ค.พบว่าเดือน เม.ย. มีความเครียดมาก 5.2% เครียดปานกลาง 4.2%ส่วนประชาชนมีความเครียดมากที่สุดในช่วงหลังสงกรานต์เพิ่มขึ้นชัดเจน 2% และเครียดมาก 4.1% หรือราว 6 %

ความเครียดที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับช่วงของเคอร์ฟิวและการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากสถานการณ์ไม่ปกติในการควบคุมโรคนี้ แต่ตัวเลขเหล่านี้ จะต้องได้รับการดูแล เพราะแต่ละคนมีความสามารถปรับตัวแตกต่างกันไป แต่อีก 80% ปรับตัวได้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ทั้งนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มอบกรมสุขภาพจิตเข้าไปดูแลบุคลากรทางการแพทย์ เชื่อมโยงจัดการเรื่องการหมุนเวียนให้ได้พักบ้าง รวมทั้งดูแลชีวิตความเป็นอยู่ ค่าตอบแทน ส่วนประชาชน ถ้ามีความเครียดให้ขอแสดงตัวและขอความช่วยเหลือ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ศบค.จัดหน่วยงานต่างๆเข้าไปดูแลทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม

เข้าใจผู้ที่เดือดร้อนจากภาวะความเครียดที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากไวรัสที่ทำให้มีมาตรการของรัฐต่างๆ ขึ้นมา แนวทางการแก้ไขถ้าเริ่มจากการควบคุมโรคได้ และจะช่วยให้มีการดูแลทางเศรษฐกิจ ซึ่งศบค.เน้นนโยบายในการดูแลทางด้านสุขภาพมาก่อนแล้วค่อยจัดการเยียวยาทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหลายมาตรการได้นำมาใช้แล้ว

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า วันนี้คนไทยกลับจากรัสเซีย 25 คน เกาหลีใต้ 60 คน เวียดนาม 115 คน โดยจะเข้ากักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด 14 วัน ส่วนข้อมูลว่าบางจังหวัดจะปลดล็อกนั้น  ประธานศบค.ระบุว่าต้องใช้สถิติ ชุดข้อมูล ทั้งเรื่องของสถานการณ์ระบาด และความร่วมมือด้านต่างๆ การจะผ่อนปรนขึ้นอยู่ตัวเลขเหล่านี้ ย้ำว่ายังไม่มีการยกเลิกมาตรการ เพราะประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นที่จับตาของทั้งโลกหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น

การจะผ่อนปรนหรือการปิดถาวรขึ้นอยู่กับสถิติผู้ติดเชื้อ แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่เป็นคำสั่งของนายกฯเพียงคนเดียว ซึ่งคาดว่าจะออกมาในเร็วๆนี้

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง