ไทยเดินหน้าร่วมวิจัยวัคซีนกับ 7 โครงการทดลองในมนุษย์ 3 ประเทศ

การเมือง
22 เม.ย. 63
19:37
1,333
Logo Thai PBS
ไทยเดินหน้าร่วมวิจัยวัคซีนกับ 7 โครงการทดลองในมนุษย์ 3 ประเทศ
รองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ของวุฒิสภา ระบุไทยควรจะร่วมวิจัยคิดค้นกับประเทศที่ทดลองวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ทั้งจีน สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ หากการทดลองสำเร็จโลกจะได้ใช้วัคซีนภายใน 12 เดือน

วันนี้ ( 22 เม.ย. 2563) ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ของวุฒิสภา เปิดเผยการหารือในวันนี้ มี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมให้ข้อคิดเห็นด้วย ซึ่งวันนี้ที่ประชุมหารือกันใน 2 เรื่องเกี่ยวกับการเตรียมรับมือความพร้อมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 คือเรื่องของยารักษาโรค และวัคซีนต้านไวรัส

การทดลองผลิตวัคซีนในขณะนี้ มีการทดลองวัคซีค ทั้งภาครัฐโดยมหาวิทยาลัย และเอกชนทั่วโลกมากกว่า 100 ประเทศ และมีโครงการผลิตวัคซีนมากกว่า 500 โครงการ แต่มีเพียง 7 โครงการเท่านั้นที่กำลังศึกษาทดลองในคน คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และจีน ที่เหลือนั้นเป็นการทดลองในห้องทดลอง และการทดลองในสัตว์ ซึ่งกระบวนการทดลองคิดค้นวัคซีนนั้น จะต้องหาสารพันธุกรรมของเชื้อโรคให้เจอในห้องทดลอง

ขณะนี้สำหรับ COVID-19 เจอแล้ว เมื่อเจอแล้วถึงจะทดลองในสัตว์ขนาดเล็ก 2-3 เดือน ก่อนจะทดลองในสัตว์ที่ขนาดที่ใหญ่ขึ้นหรือขนาดที่ใกล้เคียงกับมนุษย์ ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกระยะหลายเดือน

เมื่อในขั้นตอนนี้พบว่า การทดลองปลอดภัย จึงจะเริ่มหาอาสาสมัครทดลองในคน ซึ่งจะต้องทดลอง 3 ระยะ คือ ระยะปลอดภัย ระยะภูมิคุ้มกันต้านทาน และสุดท้ายระยะป้องกันโรค ซึ่งโดยหลักปกติขั้นตอนทั้งหมดนี้ จะใช้ระยะเวลาในการทดลอง 2-5 ปี

นพ.เฉลิมชัยระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 เป็นภาวะที่รุนแรงมาก เนื่องจากเป็นเวลาเพียงไม่ถึง 4 เดือน แต่มีผู้ติดเชื้อไปแล้วกว่า 2 ล้านคน ในกระบวนการทดลองจึงข้ามขั้นตอนบางขั้น เช่น ข้ามการทดลองในสัตว์เล็ก โดยมี 7 โครงการ ซึ่งหากมวลมนุษยชาติโชคดีสำหรับการทดลอง 7 โครงการนี้ประสบความสำเร็จ โลกจะสามารถใช้วัคซีนภายใน 12 เดือน

ซึ่งหากใน 7 โครงการนี้ไม่สำเร็จก็จะต้องรอการทดลองจากอีก 400 โครงการ ที่อาจจะต้องใช้ระยะเวลา 2-3 ปี ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ด้วยกระบวนการผลิตวัคซีนนี้ อย่างน้อยคนไทย จะต้องใช้ชีวิตคู่ขนานไปกับการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคไวรัส 12 เดือน

นพ.เฉลิมชัยยังระบุว่า การที่ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนนั้นมี 3 วิธี วิธีแรก คือผลิตเอง นั่นหมายความว่า ประเทศไทยจะต้องเริ่มต้นนับจากศูนย์ โดยระดมสมองของคณะแพทย์นักวิทยาศาสตร์และถอดรหัส DNA ของเชื้อโรค แต่วิธีนี้ต้นทุนสูงและใช้ระยะเวลานาน

วิธีที่สองคือการร่วมมือกับประเทศที่มีความสัมพันธ์ที่ดี แล้วอยู่ในระหว่างการทดลองระดับต้นๆ อย่าง 7 โครงการ

เมื่อถามว่า เหตุใดจีนหรือสหรัฐอเมริกาจะให้ความร่วมมือกับไทย นั่นเพราะว่าประเทศเหล่านั้นต้องการได้การทดลองในมนุษย์ให้ได้จำนวนมาก นั่นจะทำให้ประเทศไทยได้ใช้วัคซีนเร็วขึ้น และไทยจะเป็นประเทศที่อยู่ในลำดับต้นๆ ที่ได้ใช้วัคซีนก่อน ซึ่งประเทศไทยควรให้ความร่วมมือกับทางสหรัฐฯ อังกฤษและจีนในการผลิตวัคซีน นอกจากเราจะได้วัคซีนที่เร็วแล้วเรายังจะได้วัคซีนในราคาที่ถูก

ส่วนวิธีที่สามเป็นวิธีที่ประเทศไทยไม่เลือก นั่นคือการเก็บเงินและนำไปซื้อวัคซีนจากประเทศที่ผลิตได้ นอกจากจะได้วัคซีนที่แพงแล้ว แม้อาจมีเงินแต่ก็อาจไม่ได้วัคซีน ด้วยเพราะอาจผลิตได้ในจำนวนที่จำกัด ประเทศที่คิดค้นสำเร็จจึงต้องผลิตให้ประเทศของตัวเองก่อน และใช้กับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศพันธมิตรที่ร่วมวิจัยมาด้วยกัน

ซึ่งในที่ประชุมวันนี้ที่มี นพ.ยง มาร่วมด้วย ได้ข้อสรุปว่า ไทยจะเลือกแนวทางที่สอง คือร่วมมือทดลองวัคซีนกับประเทศที่กำลังทดลองในระดับที่มีความก้าวหน้าสูงสุด

นอกจากนี้ นพ.เฉลิมชัยยังระบุถึงกลุ่มยารักษาโรคที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งยาในกลุ่มที่รักษาโรคซาร์ส ไข้หวัดใหญ่ ยารักษาเอดส์ และยารักษามาลาเรีย ที่ขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้สรุปว่ายาตัวไหนดีที่สุด จึงทำให้ขณะนี้แพทย์ทำการรักษาโดยใช้สูตรผสมตัวยาหรือเรียกว่าสูตรค็อกเทล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง