นำร่องตรวจเชิงรุกกลุ่มเสี่ยง "บางเขน" พบผู้ป่วย COVID-19 ลดลง

สังคม
23 เม.ย. 63
15:40
985
Logo Thai PBS
นำร่องตรวจเชิงรุกกลุ่มเสี่ยง "บางเขน" พบผู้ป่วย COVID-19 ลดลง
สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง นำร่องสุ่มตรวจกลุ่มเสี่ยงในเขตบางเขนและคลองเตย เพื่อค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก เตรียมศึกษารูปแบบและขอบเขตการระบาดในชุมชนแออัด พบบางเขนซึ่งเป็นที่ตั้งสนามมวยลุมพินีมีผู้ติดเชื้อลดลงจริง อาจเป็นข่าวดีปลดล็อกบางพื้นที่ใน กทม.

วันนี้ (23 เม.ย.2563) นพ.เอนก มุ้งอ้อมกลาง ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง เปิดเผยถึงกรณีนำร่องตรวจ COVID-19 ในกลุ่มเสี่ยงพื้นที่เขตบางเขนและคลองเตย โดยระบุว่า กรมควบคุมโรคได้มอบหมายให้ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองสุ่มตรวจกลุ่มเสี่ยง เพื่อค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก จึงเริ่มนำร่องที่เขตบางเขน เนื่องจากบางเขนเป็นพื้นที่ระบาดวงขนาดใหญ่ เพราะเป็นที่ตั้งของสนามมวยลุมพินี ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของการกระจายเชื้อไวรัส COVID-19 ไปทั่วประเทศ

เมื่อเป็นพื้นที่เก่า และเป็นจุดตั้งต้นการระบาด จึงเลือกตรวจเชิงรุกเพื่อศึกษาว่าพื้นที่นี้มีการระบาดไปถึงไหน และเพื่อตรวจสอบว่าเคสผู้ป่วยลดลงจริงหรือไม่

สำหรับการเลือกกลุ่มเสี่ยงนั้น เน้นประชากรตั้งแต่คนเก็บขยะที่เสี่ยงต่อขยะติดเชื้อ ต่อมาคือกลุ่มแม่ค้า พ่อค้า ที่มีประชาชนเข้าไปในตลาดจนอาจเกิดความแออัดได้ กลุ่มต่อมาคือ กลุ่มคนขับรถ ขสมก. คนขับแท็กซี่ และวินมอเตอร์ไซต์ เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การแพร่เชื้อ

การตรวจเชิงรุกในพื้นที่บางเขนจะเป็นการสร้างความมั่นใจถึงขอบเขตการแพร่ระบาดของไวรัส ในกรณีที่อาจมีการปลดล็อกบางพื้นที่ กทม.ในอนาคต
ภาพ : สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค

ภาพ : สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค

ภาพ : สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค


นอกจากนี้ การตรวจกลุ่มเสี่ยงยังครอบคลุมถึงกลุ่มมีอาการในชุมชนซึ่งเจ้าหน้าติดตามและคัดกรองที่บ้านในชุมชน จำนวน 1,876 คน พบผู้ติดเชื้อเพียง 1 คน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดลดลงจริงๆ

เมื่อการแพร่ระบาดในประเทศลดลง หัวใจสำคัญในขณะนี้ คือ State quarantine เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดจากต่างประเทศ

ส่วนในพื้นที่เขตคลองเตยนั้น เป็นการสำรวจเพื่อนำร่องดำเนินการต่อไปว่ารูปแบบการระบาดในคลองเตยมีลักษณะแบบไน เพื่อเป็นต้นแบบในการดูสถานการณ์ในชุมชนแออัดทั่วประเทศ เมื่อพบผู้ติดเชื้อก็จะนำเข้าสู่กระบวนการรักษาทันที และสืบค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดต่อไปขยายให้กว้างมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ปลอดโรคได้จริงๆ

State quarantine เครื่องมือหยุดเชื้อต่างประเทศ

นพ.เอนก  ระบุว่า State quarantine เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศได้ โดยขณะนี้ไทยมี State quarantine ทั้งหมด 14 แห่ง มีคนอยู่ 1,478 คน ส่วน Local quarantine มีอยู่ทั่วประเทศ 1,192 แห่ง และมีคนอยู่ 3,506 คน

ก่อนทุกคนจะเข้ามากักตัวใน State quarantine จะต้องมีการคัดกรองทั้งต้นทางและที่สนามบิน หากมีอาการป่วยหรือเป็นกลุ่มเสี่ยงจะแยกตัวไปโรงพยาบาล เพื่อตรวจเชื้อและรักษาต่อไป

ภาพ : สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค

ภาพ : สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค

ภาพ : สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค


ส่วนกลุ่มที่ไม่มีอาการ เมื่อแยกไป State quarantine ก็จะต้องมีการตรวจคัดกรองอีกครั้งด้วย PCR ถ้าติดเชื้อจะต้องรักษาในโรงพยาบาลทุกคน หากไม่มีเชื้อก็ต้องกักตัวให้ครบ 14 วันก่อนกลับบ้าน แต่ยังต้องใส่หน้ากากอนามัยและแยกตัวกับคนในบ้านและชุมชนต่อ

ทั้งนี้ นพ.เอนก ยืนยันว่า State quarantine เป็นเครื่องมือลดการแพร่เชื้อ จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ใกล้ๆ สถานที่ที่ใช้เป็น State quarantine เข้าใจ ช่วยสอดส่องและไม่ต่อต้านให้คนกลุ่มนี้เข้ามากักตัว เพราะการแพร่เชื้อไม่สามารถแพร่เชื้อจากตึกหนึ่งไปอีกตึกหนึ่งได้ และมีเจ้าหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศบค.เล็งเสนอครม.ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุม COVID-19

ส่งสายตรวจบุกถึงบ้านสกัดฝ่าฝืนเคอร์ฟิวพุ่ง 16,179

กรมอนามัย คุมเข้มพื้นที่บริจาคอาหารหวังลดแออัด ป้อง COVID-19

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง