ไทยแอร์เอเชีย-ไทยไลอ้อนแอร์ พร้อมบินในประเทศ พ.ค.นี้

เศรษฐกิจ
23 เม.ย. 63
17:40
587
Logo Thai PBS
ไทยแอร์เอเชีย-ไทยไลอ้อนแอร์ พร้อมบินในประเทศ พ.ค.นี้
กพท.เผยมีสายการบินไทยแอร์เอเชีย และสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เตรียมทำการบินในประเทศเดือน พ.ค.นี้ พร้อมให้ขายตั๋วแบบเว้นที่นั่ง ขณะที่เส้นทางบินขึ้นอยู่กับการปลดล็อกของแต่ละจังหวัด

วันนี้ (23 เม.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับ 20 สายการบิน ทั้งสายการบินที่บินตามตารางในประเทศและสายการบินเช่าเหมาลำ หรือ charter flight ว่า เบื้องต้นมี 2 สายการบินที่มีความพร้อมทำการบินเส้นทางภายในประเทศ ในวันที่ 1 พ.ค.นี้คือ สายการบินไทยแอร์เอเชีย และสายการบินไทยไลออนแอร์

โดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย จะเริ่มบินวันที่ 1 พ.ค.2563 เป็นต้นไป ขณะที่สายการบินไทยไลออนแอร์ จะขอพิจารณาเงื่อนไขการประกาศต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งคาดว่าจะออกมาก่อนวันที่30 เม.ย.นี้ เพื่อกำหนดวันเริ่มทำการบินต่อไป

 

ส่วนแต่ละสายการบินจะกลับมาบินในเส้นทางใดบ้างจะมีองค์ประกอบ 2 ส่วนคือ เรื่องการปลดล็อกดาวน์ในแต่ละจังหวัด ซึ่งในบางจังหวัดมีการปิดสนามบินอยู่ จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สายการบินจะเปิดให้บริการ ขณะเดียวกัน กพท.ได้กำหนดมาตรการให้สายการบินจำหน่ายตั๋วได้ในสัดส่วนร้อยละ 70 ของจำนวนที่นั่งบนเครื่องแต่ละแบบ เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งสายการบินก็จะนำไปพิจารณาเรื่องของความคุ้มทุนของการเปิดให้บริการในแต่ละเส้นทางประกอบด้วย

ทั้งนี้ มาตรการรักษาระยะห่าง จะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการขายตั๋ว และมีการจัดที่นั่งบนเครื่องบินแบบเว้นที่นั่ง ซึ่งเครื่องบินขนาดเล็ก เช่น เครื่องบินใบพัดขนาด 70 ที่นั่ง จะให้นั่งได้ 49 ที่นั่งเท่านั้น ส่วนเที่ยวบินที่ทำการบินเกิน 90 นาที จะให้เตรียมที่นั่ง 2 แถวสุดท้ายกรณีพบว่ามีผู้ป่วยในเที่ยวบิน ส่วนผู้โดยสารจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการ หากไม่สวมหน้ากากอนามัยจะไม่สามารถใช้บริการสายการบินได้ นอกจากนี้จะไม่มีบริการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องบิน และจะไม่อนุญาตให้นำอาหารขึ้นเครื่องด้วย โดย กพท.จะออกประกาศมาตรการทางสาธารณสุขที่ใช้สำหรับการบิน

 

ขณะที่ราคาค่าตั๋วโดยสาร ยืนยันว่ายังไม่อนุญาตให้มีการปรับราคา แต่ราคาค่าโดยสารก็อาจจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น โดยขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของสายการบิน แต่ราคาจะต้องไม่เกินเพดานราคาขั้นต่ำ 9.40 บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่ปัจจุบันสายการบินได้คำนวณค่าโดยสารอยู่ที่ประมาณ 3-5 บาทต่อกิโลเมตร พร้อมย้ำว่าการปรับราคาค่าโดยสารของสายการบินขณะนี้ หากปรับสูงเกินไปก็จะเกิดปัญหากับสายการบินเอง เพราะประชาชนจะไม่ใช้บริการจากสถานการณ์ COVID-19

ส่วนกรณีสายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศ ขณะนี้ยังไม่มีสายการบินใดแจ้งความประสงค์ที่จะทำการบิน ส่วนการขยายเวลาห้ามทำการบินตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 30 เม.ย.นี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล เนื่องจากปัจจุบันยังมีการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในต่างประเทศ ทำให้การตัดสินใจเปิดเส้นทางบินจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศบค.เล็งเสนอครม.ขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุม COVID-19

กพท.นัดถกสายการบิน หลังจ่อเปิดบินในประเทศ 1 พ.ค.นี้

เปิดผลสำรวจกว่า 80% ทุกกลุ่มอาชีพ ไม่ได้เยียวยาเพราะติดเงื่อนไข

ศุลกากรยกเว้นอากรนำเข้ายา-อุปกรณ์ป้องกัน COVID-19

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง