นำร่อง 27 รพ.รักษาทางไกลผ่าน VDO call - ส่งยาทางไปรษณีย์

สังคม
24 เม.ย. 63
15:10
770
Logo Thai PBS
นำร่อง 27 รพ.รักษาทางไกลผ่าน VDO call - ส่งยาทางไปรษณีย์
นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผย สธ.เตรียมดำเนินการรักษาทางไกลแบบออนไลน์ผ่าน VDO call และส่งยาทางไปรษณีย์ รองรับทุกสิทธิการรักษา ไม่เสียค่ารักษาและค่ายาเพิ่ม ส่วนค่าส่งยาขึ้นอยู่กับสิทธิ นำร่อง 27 โรงพยาบาลของกรมการแพทย์

วันนี้ (24 เม.ย.2563) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลง COVID-19 เรื่อง การดูแลผู้ป่วยโดยใช้ Telemedicine และ Teleconsult โดย นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า สธ.เตรียมดำเนินการตามแนวคิดโดยให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เน้นการรักษาทางไกลแบบออนไลน์ และส่งยาทางไปรษณีย์ ซึ่งผู้ป่วยที่สามารถใช้บริการนั้นต้องเป็นผู้ป่วยเก่าที่ได้รับการประเมินจากแพทย์ว่าสามารถรับบริการได้ และสมัครใจในการรับบริการผ่าน VDO call รวมถึงรับยาทางไปรษณีย์ และผู้ป่วยหรือญาติสามารถใช้สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ได้

 

จากการตรวจสอบสถานการณ์ผู้ป่วยของโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ พบว่า สามารถคัดกรองผู้ป่วยที่พร้อมรับบริการรักษาทางไกลได้ถึง 30% หากผู้ป่วยสนใจและสมัครใจรับบริการ โดยหากผู้ป่วยคนใดมีความประสงค์จะรักษา สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ได้ที่โรงพยาบาล และแพทย์จะประเมินความเหมาะสม หากอนุญาตก็ให้ผู้ป่วยเซ็นยินยอมเข้ารับการรักษาและรอแจ้งวันนัด โดยจะรับรองสิทธิการรักษาทุกสิทธิ ไม่เสียค่ารักษาและค่ายาเพิ่มเติม ส่วนค่าส่งยาทางไปรษณีย์ขึ้นอยู่กับสิทธิการรักษา แต่หากผู้ป่วยยินยอมจ่ายก็จะช่วยให้สามารถส่งได้รวดเร็วมากขึ้น แต่ย้ำว่ายังไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลที่สามารถให้บริการได้

27 โรงพยาบาลบริการรักษาผ่าน VDO call

รองอธิบดีกรมการแพทย์ ยังระบุอีกว่า โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ สามารถให้บริการได้แล้ว 27 แห่ง โดยในกรุงเทพฯ สามารถให้บริการได้ทุกแห่ง ซึ่งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โรงพยาบาลได้ให้บริการผ่าน VDO call ไปแล้ว 4,316 คน เฉลี่ยวันละ 200 คน และให้บริการส่งยาทางไปรษณีย์แล้ว 6,717 คน เฉลี่ยวันละ 363 คน

 

นอกจากนี้ยังมีระบบให้คำปรึกษากับแพทย์ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดได้ หากระบบนี้เกิดขึ้น ผู้ป่วยต่างจังหวัดจะสามารถปรึกษาแพทย์ในกรุงเทพฯ อาจเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้แบบการรักษาทางไกล ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ป่วยต่างจังหวัดในอนาคต โดยผู้ป่วยกับหมอสามารถเห็นหน้ากัน พูดจาตอบโต้กันได้ เมื่อทำการรักษาเสร็จจะมีระบบให้โอนเงิน และในการจัดส่งยาจะมีเลข Tracking ให้ติดตามยาได้ ซึ่งการบริการเช่นนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดเวลาการเดินทาง และลดความแออัดในโรงพยาบาล 

ขณะที่โรงพยาบาลต่างจังหวัดเริ่มทยอยให้บริการบ้างแล้ว และในอนาคตจะมีการขยายกลุ่มโรคที่เหมาะสมกับการให้บริการมากขึ้น เชื่อมโยงข้อมูลการรักษาระหว่างโรงพยาบาลและข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วย เพื่อเอื้อต่อการส่งต่อข้อมูล หากผู้ป่วยย้ายโรงพยาบาลสามารถนำไปให้โรงพยาบาลแห่งใหม่ใช้ได้โดยไม่ต้องซักประวัติใหม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง