ชี้ตรวจภูมิต้านทาน COVID-19 ผลลบ-ไม่ควรสรุปว่าไม่ป่วย

สังคม
26 เม.ย. 63
11:29
2,878
Logo Thai PBS
ชี้ตรวจภูมิต้านทาน COVID-19 ผลลบ-ไม่ควรสรุปว่าไม่ป่วย
"หมอยง" โพสต์เฟชบุ๊ก ระบุว่า ไม่มีประโยชน์ในการค้นหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 อาจมีความสับสนในการแปลผลบวก แม้แต่ WHO ยังชี้ว่าการตรวจพบภูมิต้านทานไม่ได้เป็นเครื่องยืนยัน หรือใบเบิกทางป้องกันโรคที่จะไม่กลับมาเป็นซ้ำ

วันนี้ (26 เม.ย.2563) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เกี่ยวกับการข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจภูมิต้านทานหาผู้ติดเชื้อ COVID-19 โดยสรุปว่าอาจจะไม่มีประโยชน์ในการค้นหาผู้ติดเชื้อ ซึ่งผลตรวจอาจมีความสับสนในการแปลผลบวก รวมทั้งเป็นเครื่องยืนยันว่าเราจะไม่กลับไปเป็นซ้ำอีก ทั้งนี้ หมอยงได้อธิบายโดยแบ่งเป็น 12 ข้อ ดังนี้

1.องค์การอนามัยโลกรายงานว่า การตรวจพบภูมิต้านทานไม่ได้เป็นเครื่องยืนยัน หรือใบเบิกทางถึงการป้องกันโรคที่จะไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีก

2. ภูมิต้านทานที่ตรวจ มีทั้ง IgG และ IgM กว่าจะขึ้นให้ตรวจพบได้ ต้องใช้เวลา 1-2 อาทิตย์หลังมีอาการ ซึ่งระบบภูมิต้านทานไม่ใช่มีเพียงแค่ แอนติบอดี (Antibody) แต่ยังมีระบบอื่นร่วมด้วย

3.องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนการสร้างภูมิคุ้มกัน บางคนสร้างได้สูง บางคนสร้างได้ต่ำ

4.จากการศึกษาในปัจจุบัน (24 เม.ย.) ยังไม่มีรายงานใดที่จะบอกได้ว่า การมีภูมิต้านทานจะป้องกันไม่ให้เกิดโรคโควิด 19 ซ้ำได้อีก

5.การตรวจภูมิต้านทานที่อยู่ในท้องตลาด ส่วนใหญ่เป็นการตรวจด้วยการเจาะเลือด (Rapid Test) หรือตรวจได้อย่างรวดเร็ว จะต้องคำนึงถึงความถูกต้องของการตรวจ เพราะมีทั้งผลบวกปลอม และผลลบปลอม ซึ่งจะสร้างความสับสนในการแปลผล

6. การตรวจภูมิต้านทาน ไม่สามารถเอามาใช้ในการวินิจฉัยการติดเชื้อของผู้ป่วย ระยะเริ่มแรกได้ ต้องรอ 1-2 อาทิตย์ไปแล้ว

7. การตรวจได้ผลลบ ไม่ได้ยืนยันว่าผู้นั้นไม่มีการติดเชื้อ การตรวจหาเชื้อที่หลังโพรงจมูกยังเป็นวิธีมาตรฐาน ผู้ป่วยอาจจะติดเชื้อมีเชื้ออยู่แล้วแต่ภูมิต้านทานยังไม่ขึ้น และสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ในระยะนี้

8. การตรวจได้ผลบวก ก็ยังมีผลบวกปลอม เพราะยังมีโคโรนาไวรัสตัวอื่น ๆ อาจจะให้ผลบวกปลอม

9. ในการระบาด ที่นิวยอร์กพบว่าครึ่งหนึ่งเป็นแบบไม่มีอาการ และการตรวจเชื้อจะพบได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ เมื่อติดตามแล้วมีจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่มีอาการ และยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ (NEJM; April 24, 2020)

10. การตรวจกรองหาผู้ติดเชื้อ จึงควรใช้วิธีการตรวจหาเชื้อ มากกว่าที่จะใช้วิธีการตรวจหาภูมิต้านทาน ขณะนี้มีการนำเอาการตรวจหาภูมิต้านทานไปตรวจตามโรงงาน เพื่อหาการติดเชื้อซึ่งไม่มีประโยชน์ในการค้นหาผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ เพื่อการควบคุมการแพร่กระจายของโรค โดยเฉพาะโรงงานหรือแหล่งชุมชน

11. การตรวจเกมรุกเพื่อหาผู้ติดเชื้อ และลดการแพร่กระจายเชื้อ จำเป็นจะต้องใช้วิธีตรวจหาเชื้อด้วยกระบวนการ PCR ถ้าบริหารจัดการให้ดี ในอนาคตค่าตรวจควรจะลดลงได้มากกว่านี้มาก ประเทศไทยสามารถพัฒนาชุดตรวจได้เอง อย่างที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำ และแทนที่จะตรวจ 2 gene

ถ้าตรวจเกมรุกเป็นการตรวจกรอง อาจจะตรวจ gene เดียวก็พอ ถ้าให้ผลบวกแล้วจึงค่อยตรวจยืนยันอีกครั้ง เหมือนการตรวจไวรัสตัวอื่น ๆ ที่รู้จักดี เราก็ตรวจยีนส์เดียว ซึ่งโควิด 19 ปัจจุบันเป็นโรคที่รู้จักดีแล้วในการตรวจ

12. ข้อมูลรายละเอียด อ่านเพิ่มเติมได้จาก NEJM 24 April และ WHO

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เริ่ม 2 พ.ค. "สเปน" ผ่อนปรนให้ออกกำลังกายนอกบ้านได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง