ขสมก.คาดคนใช้รถเมล์เพิ่ม 1-2 แสนคน/วัน หลังปลดล็อกเปิดห้าง

สังคม
28 เม.ย. 63
11:42
5,941
Logo Thai PBS
ขสมก.คาดคนใช้รถเมล์เพิ่ม 1-2 แสนคน/วัน หลังปลดล็อกเปิดห้าง
จับตามาตรการคลายล็อกเปิดห้างในเดือน พ.ค.นี้ จะทำให้มีคนเดินทางในระบบเพิ่มขึ้น เบื้องต้น ขสมก.ประเมินมีผู้ใช้รถเมล์เพิ่มวันละ 100,000-200,000 คน พร้อมขอภาครัฐออกมาตรการเหลื่อมเวลาและเผื่อเวลาเลิกงานก่อนเคอร์ฟิว 22.00 น.

วันนี้ (28 เม.ย.2563) นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) กล่าวว่าขณะนี้กำลังติดตามสถานการณ์หากมีการคลายล็อกเปิดห้างสรรพสินค้าในเดือน พ.ค.นี้ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากพนักงานห้างสรรพสินค้าทั่วกรุงเทพฯ อาจเดินทางกว่าวันละแสนคน ทำให้ ขสมก.ต้องปรับแผนการเดินรถและเพิ่มปริมาณรถในระบบให้ได้ร้อยละ 95 จากเดิมร้อยละ 70 และห้างสรรพสินค้าจำเป็นต้องปิดทำการก่อนเวลาเคอร์ฟิวอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อเผื่อเวลาให้คนเดินทางในกรณีที่พนักงานห้างสรรพสินค้าเลิกงานพร้อมกัน รวมกับมาตรการเว้นระยะห่างบนรถโดยสารที่จำกัดทั้งจำนวนที่นั่งและคนยืน จะทำประชาชนต้องรอรถนาน

ที่ผ่านมาผู้ใช้บริการของรถเมล์ ขสมก. มีการขายตั๋วประมาณวันละ 3 แสนคน จากช่วงเวลาปกติ ที่ไม่มีสถานการณ์ COVID-19 มีผู้โดยสารกว่า 9 แสนคน หากมีการเปิดพื้นที่พาณิชย์เพิ่มเติม โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าก็อาจทำให้มีผู้ใช้บริการ ขสมก.เพิ่มขึ้นอีกประมาณวันละ 1-2 แสนคน

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า หากมีการเปิดห้างสรรพสินค้าในเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่าจะมีประชาชนใช้บริการรถเมล์โดยสารเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะในส่วนของประชาชนที่เป็นพนักงานในห้างสรรพสินค้า เพื่อเดินทางไป-กลับ ที่พักอาศัยกับพื้นที่พาณิชย์เหล่านี้

นอกจาก ขสมก.จะต้องเดินรถเต็มที่แล้ว กรมการขนส่งทางบกจะขอร่วมมือไปยังผู้ประกอบการรถร่วมบริการ และรถตู้โดยสารให้กลับมาเดินรถช่วย เพื่อให้มีรถเพียงพอต่อความต้องการใช้บริการ โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วนทั้งเช้าและเย็นจนถึงก่อนเวลาเคอร์ฟิว

ขณะที่นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ประเด็นที่มีการเปิดพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยเฉพาะในส่วนของห้างสรรพสินค้าเพิ่มเติมนั้น ในส่วนของกรมการขนส่งทางรางจะมีการหารือกับระดับนโยบายรวมทั้งผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้ง MRT รถไฟฟ้า BTS และรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อจัดระบบการเดินทางให้เพียงพอต่อความต้องการใช้บริการของประชาชน

เบื้องต้นจะต้องนำมาตรการการเหลื่อมเวลาการเลิกงานมาใช้ เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวในการเดินทางแต่ละช่วงเวลา เนื่องจากขณะนี้การใช้มาตรการ Social Distancing บนขบวนรถ ทำให้ความจุของขบวนรถไฟฟ้าแต่ละขบวน แต่ละตู้ลดลงประมาณร้อยละ 75 เช่น ตู้โดยสารที่เคยบรรทุกผู้โดยสาร 250 คนขณะนี้ก็เหลือแค่ 50 คนเท่านั้น ซึ่งเรื่องการเหลื่อมเวลานี้จะต้องหารือกับรัฐบาลเพื่อวางแนวทางที่ชัดเจนต่อไป

ขณะเดียวกันมาตรการเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัส COVID-19 ทั้งการเว้นระยะห่างในสถานี, บนขบวนรถ, การใส่หน้ากากอนามัย และตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารก่อนเข้าสถานี ก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องปฏิบัติอย่างเข้มข้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง