สธ.แนะใช้ 4 แนวทางปรับปรุงสถานประกอบการ ก่อนทยอยเปิด

สังคม
28 เม.ย. 63
15:48
2,303
Logo Thai PBS
สธ.แนะใช้ 4 แนวทางปรับปรุงสถานประกอบการ ก่อนทยอยเปิด
สธ.แถลงสถานการณ์ COVID-19 ภาพรวมดี ตัวชี้วัดสำคัญผู้ป่วยรายใหม่ลดลง แนะสถานประกอบการใช้ 4 มาตรการปรับรูปแบบการให้บริการลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ ขณะที่การเปิดเรียนในวันที่ 1 ก.ค.ต้องหารือเพื่อวางแผนป้องกันการระบาดต่อกลุ่มเสี่ยง

วันนี้ (28 เม.ย.2563) กระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 7 คน ผู้ป่วยสะสมรวม จำนวน 2,938 คน และ ยังรักษาในโรงพยาบาล จำนวน 232 คน กลับบ้านเพิ่ม 43 คน เสียชีวิต 2 คน

ผู้ป่วยรายใหม่ 7 คน วันนี้ ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีก่อนหน้านี้แล้วมารายงานตัว 5 คน เดินทางไปยังสถานที่ชุมชน 1 คน และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 1 คน ระยะหลังผู้ป่วยรายใหม่ลดลงและไม่พบผู้ที่ป่วยที่หาที่มาไม่ได้มากนัก

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โดยรวมนับตั้งแต่มีมาตรการทางสังคมที่เข้มข้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มี.ค.จนถึงขณะนี้ยอดผู้ป่วยลดลงต่อเนื่อง จากวันที่ 22 มี.ค.2563 ที่มียอดผู้ป่วยสูงสุดที่ 188 คน ซึ่งจากที่เคยแจ้งไปแล้วคือ เนื่องจากมีการเปลี่ยนนิยามการวินิจฉัยโรคใหม่ โดยบุคคลให้ที่มีผลตรวจเป็นบวกจากห้องปฏิบัติการเดียวก็นับว่าเป็นผู้ติดเชื้อ ดังนั้นยอดผู้ป่วยวันดังกล่าวจึงสูงกว่าปกติอย่างก้าวกระโดด หลังจากนั้นจึงใช้ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการเดียวมาโดยตลอด ซึ่งแนวโน้มลดลงชัดเจน

ตัวชี้วัดที่สำคัญว่ามาตรการต่างๆได้ผลหรือไม่คือ จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่ลดลง สถานการณ์ ณ ขณะนี้เหมือนกับถอยหลังมานิดหนึ่งคือ ถอยมาจากระยะที่มีการแพร่ระบาดต่อเนื่อง มีผู้ป่วยจำนวนมาก ถอยมาสู่ระยะที่มีผู้ป่วยในวงจำกัด

นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังคงมาตรการสำคัญ คือ การเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้น การค้นหาผู้ป่วยรายใหม่เชิงรุก การสอบสวนโรค และการติดตามผู้สัมผัส การจัดการกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูง การเตรียมความพร้อมและจัดระบบการดูแลรักษาผู้ป่วย เนื่องจากที่ผ่านมาเรายังไม่เคยมีการแพร่ระบาดไปจนถึงระยะวิกฤตคือ มีผู้ป่วยเกินกว่าศักยภาพการรักษาในการรองรับทั้งหมด ซึ่งเราไม่เคยไปจนถึงจุดดังกล่าว เนื่องจากการลดจำนวนผู้ป่วย การขยายศักยภาพโรงพยาบาล การเพิ่มจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วย ซึ่งยังสามารถจัดการปัญหาได้

นพ.ธนรักษ์ ยังกล่าวถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป ขึ้นอยู่กับการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ซึ่งหากสามารถรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลได้ดีจำนวนผู้ป่วยก็น่าจะน้อย แต่หากทำไม่ได้ก็จะทำให้ผู้ป่วยค่อย ๆ เพิ่ม ซึ่งไม่ต้องการให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรครวดเร็วเกินไปซึ่งหากเป็นไปได้ก็จะขอให้มีการแพร่โรคในระดับต่ำที่สุดเพื่อที่จะสามารถรับมือได้ 

ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการไปตามกิจการที่มีความเสี่ยงต่ำก็จะเปิดได้ก่อน จากที่มีความเสี่ยงสูงจะค่อย ๆ ทยอยเปิดต่อไป และมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และตัดสินใจทุก 2 สัปดาห์ และสถานประกอบการที่เปิดได้และกำลังจะได้รับการเปิดสามารถบริหารให้มีความเสี่ยงต่ำต่อการแพร่ระบาด รวมถึงการดำเนินการลดความเสี่ยงของสถานการประกอบการใน 4 แนวทาง คือ

1.การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล เช่นการทำงานจากบ้าน การออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น การเหลื่อมเวลาทำงาน การรักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร

2.การออกแบบทางวิศวกรรม เช่น การออกแบบสถานประกอบการให้มีอุปกรณ์มากั้นเพื่อให้แต่ละบุคคลอยู่ห่างกัน

3.การปรับปรุงระบบงาน โดยการปรับปรุงระบบงานเพื่อให้ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการมีความเสี่ยงต่ำลง โดยลดโอกาสที่จะสัมผัสกันโดยตรงและนำเทคโนโลยีมาใช้

4.อุปกรณ์ป้องกันตัวส่วนบุคคล (PPE) คือ การให้ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการสวมใส่หน้ากากผ้า หรือ สวมใส่เฟซชิลด์ตามความเหมาะสม

สถานประกอบการที่ยังเปิดอยู่ หรือที่กำลังจะทยอยเปิดในอนาคตสามารถนำไปปรับปรุงให้เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อโรค

นพ.ธนรักษ์ ยังกล่าวถึง กรณีการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 กรณีที่จะมีการเปิดเรียนในวันที่ 1 ก.ค.นี้ว่าเป็นโจทย์ที่ยาก เนื่องจากเด็กมีอาการน้อยและแทบไม่แสดงอาการ ซึ่งต้องมีการปรับระบบเพราะโรงเรียนมีความเสี่ยงสูง และเด็กมักที่จะเลjนกันโดยมีการสัมผัสใกล้ชิด ซึ่งเป็นโอกาสที่จะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเนื่องจากผู้ใหญ่หรือครูตรวจจับไม่พบโรงเรียนและผู้ปกครองต้องระมัดระวังอย่างสูงที่น่ากังวลคือ หากระบาดในเด็กผลกระทบจะเกิดขึ้นกับสังคมเช่น ครู พ่อแม่ และผู้สูงอายุ

มาตรการป้องกันคือ ต้องเพิ่มมาตรการระยะห่างทางสังคม โดยต้องมีการหารือกันอย่างจริงจังระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ หากจะมีการเปิดเรียนในวันที่ 1 ก.ค. ทั้งเรื่องการเรียนทางไกล การทำให้เด็กสามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้อย่างดี ซึ่งมีเวลา 2 เดือนในการวางแผนแก้ปัญหาเพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา หากเด็กต้องเรียนทางไกลก็จะกระทบกับพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งทั้งหมดต้องหารือเนื่องจากมีความซับซ้อนมากในหลายประเด็น

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง