ประเมิน COVID-19 ทำระบบเศรษฐกิจเสียหาย 1 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจ
29 เม.ย. 63
12:46
341
Logo Thai PBS
ประเมิน COVID-19 ทำระบบเศรษฐกิจเสียหาย 1 ล้านล้านบาท
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ประเมินความเสียหายจาก COVID-19 ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ขณะที่ภาคธุรกิจเสนอรัฐบาลเร่งมาตรการผ่อนคลายเปิดกิจการทั่วประเทศ ลดผลกระทบการจ้างงานและขาดรายได้

วันนี้ (29 เม.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด (ห้างค้าปลีกสมัยใหม่) ที่สำรวจความคิดเห็นจากผู้ประกอบการทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 23 มี.ค.-17 เม.ย.ที่ผ่านมา พบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด ไตรมาสที่ 1 ปี 63 อยู่ที่ระดับ 47.2 ต่ำที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี

โดยมีปัจจัยลบที่สำคัญคือ การแพร่ระบาดของ COVID-19 การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ การสั่งปิดกิจการชั่วคราว, มาตรการยกเลิกวีซ่าและฟรีวีซ่า การประกาศยกเลิกเที่ยวบินชั่วคราวของสายการบินในประเทศไทย ภัยแล้ง การส่งออกหดตัวเนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว รวมถึงปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและอเมริกาที่ยังไม่มีข้อยุติ

นอกจากนี้ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายในส่วนของธุรกิจโมเดิร์นเทรดได้ แต่ความเสียหายจาก COVID-19 ต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการบริโภค 3-4 แสนล้านบาท

เอกชนพร้อมเดินหน้าเปิดธุรกิจ

ขณะที่นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานหอการค้าไทย ระบุว่า การใช้มาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ COVID-19 ทั้งมาตรการล็อกดาวน์ และการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ประชาชนอยู่บ้านมากขึ้น แต่รายได้ผู้ประกอบการลดลง เนื่องจากกำลังซื้อชะลอตัว ขณะที่สภาพคล่อง การแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้นจากร้านค้าออนไลน์ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรดประจำไตรมาสที่ 1 ปีนี้อยู่ที่ระดับ 49 ต่ำกว่า 50 นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2561

โดยเสนอให้รัฐบาลเร่งคลายมาตรการเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ และไม่ให้กระทบต่อการจ้างงาน พร้อมยืนยันว่าภาคเอกชนมีความพร้อมสำหรับการเปิดธุรกิจอีกครั้งในต้นเดือน พ.ค.นี้ และได้เตรียมเรื่องมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อไว้แล้ว เช่น การจำกัดจำนวน จุดยืน การเว้นระยะห่างทางสังคม พร้อมเสนอให้มีการเปิดธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่อง นอกจากห้างสรรพสินค้า เช่น พื้นที่เช่าภายในห้างฯ ของร้านขายเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน

ด้านนายปราโมทย์ มนูพิบูลย์ ผู้ช่วยรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า ธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อลดลง นักท่องเที่ยวหายไป และมาตรการของรัฐ แต่ก็พร้อมปรับตัว ซึ่งการกลับมาเปิดใหม่ จะมีการปรับตัวทั้งผู้ค้าและผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิม มีการระมัดระวังมากขึ้น และเห็นว่าการเปิดธุรกิจเร็วจะช่วยเอสเอ็มอีได้มาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กทม.คลายล็อก 8 กิจการ-สถานที่ รอประกาศวันชัดเจน

ความเปราะบางของธุรกิจ SMEs หลังเผชิญ COVID-19

ดอนเมืองพร้อมให้บริการสายการบินเส้นทางในประเทศ 1 พ.ค.นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง