เช็กด่วน! บอร์ดโรคติดต่อเคาะ 3 กิจการผ่อนปรนได้

สังคม
29 เม.ย. 63
17:32
2,720
Logo Thai PBS
เช็กด่วน! บอร์ดโรคติดต่อเคาะ 3 กิจการผ่อนปรนได้
คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบแนวทางผ่อนปรน 3 กิจการการ-กิจกรรมแบ่งกลุ่มเศรษฐกิจ การดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ร้านอาหาร ร้านตัดผม ห้างสรรพสินค้า กองถ่ายภาพยนตร์ เล็งตรวจหาเชื้อในประชากรกลุ่มเสี่ยง และสถานที่เสี่ยงเฝ้าระวัง COVID-19

วันนี้ (29 เม.ย.2563) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลร่วมกันแก้ปัญหา COVID-19 มาเกือบ 4 เดือนจนประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ถือว่าประเทศ ไทยควบคุมโรคได้ โดยผู้ป่วยร้อยละ 90 หายป่วยกลับบ้านแล้ว ส่วนผู้ป่วยรายใหม่เลขตัวเดียวติดต่อกัน 3 วัน ล่าสุดมีผู้ป่วยรายใหม่ 9 คน แต่ยังคงต้องป้องกันการเข้ามาของผู้ป่วยจากต่างประเทศ โดยสำนักงานการบินพลเรือน (กพท.) ได้ออกประกาศห้ามการเดินทางเข้าประเทศไทยทางอากาศยานจนถึงวันที่ 31 พ.ค.นี้  

นายอนุทิน กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2563 ได้มีมติรับทราบข้อเสนอจากคณะกรรมการด้านวิชาการ โดยสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้นำข้อเสนอแนวทางการผ่อนปรนกิจการ กิจกรรมในการควบคุมโรค COVID-19 หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเสนอแบ่งกลุ่มกิจการ กิจกรรมที่สามารถเปิดกิจการได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  • กิจการ กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันระดับพื้นฐาน เช่น ร้านอาหารที่เปิดโล่ง ร้านตัดผมที่ไม่มีแอร์ ตลาด
  • กิจการ กิจกรรมที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก และต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร นวดแผนไทย
  • กิจการ กิจกรรมที่เพิ่มความสะดวกสบายต่อการใช้ชีวิต เช่น ฟิตเนส โรงยิม สปา กองถ่ายภาพยนตร์ 
  • กิจการ กิจกรรมที่ไม่ควรให้เปิดดำเนินการ คือสถานที่ที่เป็นที่แออัด คับแคบ ปิดทึบ มืดสลัว ทำให้มองพื้นผิวสัมผัสไม่ชัดเจน และหรือมีกิจกรรมที่ทำให้ผู้คนต้องมีความใกล้ชิดกัน มีการรวมกลุ่มกัน มีการพูดคุยกันหรือส่งเสียงดัง เช่น สนามมวย บ่อน สถานบันเทิง

ทั้งนี้ ทุกกิจการ ต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และเน้นมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลทุกแห่ง ซึ่งได้เสนอข้อมูลดังกล่าวต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานทราบแล้ว

ตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยง 5,000 คนต่อปชก.1ล้าน

นอกจากนี้ยังเห็นชอบแนวทางการตรวจหาเชื้อ เพื่อการเฝ้าระวังในกลุ่มประชากรเสี่ยง และสถานที่เสี่ยง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อ โดยเพิ่มอัตราการตรวจจาก 2,000 คนต่อประชากรล้านคน เป็น 5,000 คนต่อประชากรล้านคน ซึ่งจะทำให้มีความมั่นใจในการเฝ้าระวังและตรวจพบผู้ป่วยได้เร็ว

โดยกำหนดกลุ่มประชากรที่ต้องเฝ้าระวังเรียงลำดับ 4 กลุ่มคือ  กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ  ผู้ต้องขังรายใหม่  กลุ่มอาชีพที่พบปะผู้คนจำนวนมาก เช่น คนขับหรือพนักงานประจำรถสาธารณะ พนักงานไปรษณีย์ และพนักงาน  และกลุ่มอื่นๆ ตามสถานการณ์ของพื้นที่ ทั้งนี้ต้องให้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศบค.พบเด็ก 88 คนป่วย COVID-19 ติดจากพ่อแม่ 45%

กทม.คลายล็อก 8 กิจการ-สถานที่ รอประกาศวันชัดเจน

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง