ตร.เผยหญิงวัย 19 ปี ผูกคอเสียชีวิต คาดเครียดเรื่อง "ส่วนตัว -สุขภาพ -การเงิน "

สังคม
30 เม.ย. 63
16:05
1,404
Logo Thai PBS
ตร.เผยหญิงวัย 19 ปี ผูกคอเสียชีวิต คาดเครียดเรื่อง "ส่วนตัว -สุขภาพ -การเงิน "
ตร.คาดหญิงสาวผูกคอเสียชีวิต เหตุจากความเครียดเรื่องส่วนตัว ทั้งปัญหาสุขภาพ การเงิน และครอบครัว ด้านโฆษก ศบค.เผยสถติการฆ่าตัวตายปีนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงและและเป็นวิกฤตเกิดขึ้นทั่วโลก ระบุ สธ.ดำเนินการควบคุมโรคติดต่อพร้อมลดการสูญเสียจากการฆ่าตัวตาย

วันนี้ (30 เม.ย.63) พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เปิดเผยถึงกรณีที่ปรากฏภาพในสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีหญิงสาวรายหนึ่งผูกคอเสียชีวิต พร้อมโพสต์ภาพวาด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และข้อความระบุรัฐบาลไม่ให้ความช่วยเหลือว่า

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 01.55 น. พื้นที่ สน.เพชรเกษม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งเหตุมีผู้ผูกคอเสียชีวิตที่หอพักแห่งหนึ่งในซอยเพชรเกษม 47 แขวงบางแค เขตบางแค จากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่า ผู้เสียชีวิตชื่อ น.ส.ปลายฝน อายุ 19 ปี  

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ กล่าวว่า สาเหตุการก่อเหตุคาดว่ามาจากความเครียดเรื่องส่วนตัว ทั้งปัญหาสุขภาพ ปัญหาทางการเงิน และปัญหาครอบครัว ไม่ได้มาจากความน้อยเนื้อต่ำใจที่รัฐบาลไม่ใส่ใจดูแลคนจนตามกระแสในสื่อสังคมออนไลน์

นอกจากนี้ จากการสอบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุนายวิชัย เหมหึม ซึ่งเป็นแฟนของผู้เสียชีวิตได้โทรศัพท์พูดคุยกับผู้เสียชีวิตโดยผู้เสียชีวิตบอกว่าจะผูกคอตายจึงได้รีบเดินทางกลับจากที่ทำงานแถวอ่อนนุชเพื่อไปยังห้องพัก เมื่อเปิดประตูเข้าไปพบแฟนสาวพบว่า ใช้เชือกสายนกหวีด รปภ.ผูกคอกับคานประตูจึงรีบนำตัวลงมาแต่พบว่าไม่มีการตอบสนองเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและแพทย์มายังที่เกิดเหตุก็พบว่า น.ส.ปลายฝน เสียชีวิตแล้ว

ผลการสันนิษฐานเบื้องต้นจากแพทย์นิติเวช เสียชีวิตเนื่องจากการขาดอากาศ ซึ่งหลังจากเสียชีวิตไม่นาน สื่อสังคมออนไลน์ได้มีการแชร์เรื่องราวของผู้เสียชีวิต ที่ได้โพสต์รูปวาดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมตัดพ้อถึงความยากลำบากที่ได้รับในเฟซบุ๊กของผู้เสียชีวิต ซึ่งผู้เสียชีวิตได้โพสต์เมื่อวันที่ 22 เม.ย.63 ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 สัปดาห์

นอกจากนี้ยังทราบว่า ผู้เสียชีวิตประกอบอาชีพพนักงานรักษาความปลอดภัย โดยประจำอยู่ที่ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านบางแคและป่วยเป็นโรคประจำตัวเกี่ยวกับอาการแพ้สารอาหารบางชนิด และเคยพยายามทำร้ายตัวเองมาก่อนหน้าแล้ว และก่อนเกิดเหตุอาการเครียดรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากต้องหยุดงานเพราะมีอาการไข้ขึ้นสูงทำให้ต้องอยู่แต่ภายในบ้านและขาดรายได้ อีกทั้งยังกลับไปหาลูกที่อยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ไม่ได้

ขณะที่เพื่อนร่วมงานของ น.ส.ปลายฝน ระบุว่า ที่ผ่านมา น.ส.ปลายฝน มักจะพูดคุยเรื่องทั่วไป ไม่เคยพูดถึงเรื่องการเมืองและเรื่องเงินเยียวยา 5,000 บาท จากรัฐบาลแต่อย่างใด โดย น.ส.ปลายฝนมีความสามารถพิเศษ คือ วาดภาพสวย ทั้งภาพการ์ตูนและภาพบุคคล ส่วนเรื่องปัญหาเรื่องการเงินเคยมาพูดคุยกันบ้างเรื่องเงินไม่พอใช้ และเรื่องปัญหาสุขภาพและปัญหาส่วนตัว ส่วนเรื่องการเมืองไม่เคยพูดถึง

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสถานการณ์ลงทะเบียนมาตรการเยียวยาของ น.ส.ปลายฝน พบว่าได้มีการขอเงินเยียวยาจากทางรัฐบาลและได้รับเงินครั้งที่ 1 ไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 เม.ย.63 จำนวน 5,000 บาท เนื่องจาก น.ส.ปลายฝน ยังส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด จึงถือว่ายังเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติได้รับการเยียวยาจากรัฐบาล

สำหรับภาพวาดของนายกรัฐมนตรีที่มีการโพสต์ก่อนหน้านั้นในเฟซบุ๊กของผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา จากการตรวจที่เกิดเหตุเบื้องต้นไม่พบภาพวาดดังกล่าวอยู่ภายในห้องพักที่เกิดเหตุ สอบถามแฟนของผู้เสียชีวิตทราบแต่เพียงว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้วาดภาพดังกล่าวเอง แต่ปัจจุบันไม่ทราบว่าภาพนั้นอยู่ที่ใด และเชื่อว่าสาเหตุการฆ่าตัวตายเกิดจากความเครียดเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพส่วนตัวของผู้เสียชีวิตเอง ก่อนหน้านี้ ทราบว่า น.ส.ปลายฝน ได้สิทธิรับเงินช่วยเหลือจากทางรัฐบาลมาแล้ว จำนวน 5,000 บาท เมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา

ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีกรมสุขภาพจิตจะแก้ปัญหาการฆ่าตัวตายจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างไร ว่า ข้อมูลเรื่องการฆ่าตัวตายกระทรวงสาธารณสุขนำชุดข้อมูลมาพูดคุยกันหลายครั้ง เทียบเคียงกรณีศึกษาจากข่าว บทความวิชาการ เมื่อย้อนดูข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ยอมรับว่าปีนี้ค่อนข้างน่าห่วง เพราะเป็นวิกฤติทั่วโลก และการปัญหาการป่วยทางจิตก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก

แนวโน้มการพยากรณ์เช่นเดียวกับการรายงานการติดโรค เป็นพื้นฐานวิทยาศาสตร์ไม่ผิดไปจากความคาดหมาย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลโรคติดต่อการลดจำนวนการสูญเสียจากการฆ่าตัวตายซึ่งเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ สัญญาณที่มีมาก่อนเป็นเรื่องที่บุคลากรสาธารณสุขต้องเข้าไปดู รวมถึงภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ การแก้ปัญหาที่ตรงกับเหตุเป็นสิ่งที่สามารถลดเรื่องนี้ได้

“ที่สำคัญคือมาตรการส่วนบุคคลผู้ที่มีผลกระทบจากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะมีลักษณะสัญญาณแสดงออก ญาติและคนใกล้ชิดต้องร้องขอมายังกรมสุขภาพจิต เพื่อที่เราจะช่วยกันแก้ไข อย่างไรก็ตาม เราเคยเจอวิกฤติปี 2540 ขณะนั้นมีตัวเลขคนฆ่าตัวตายร้อยละ 8.3 ต่อจำนวนประชากร แต่ครั้งนี้ยังไม่ถึงตอนนั้นเราทำให้ลดลงได้ ด้วยการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง