ศบค.ห่วงคนกรุงผ่อนคลาย COVID-19 เดินทางเฉียด 1 ล้านคน

สังคม
1 พ.ค. 63
12:58
4,390
Logo Thai PBS
 ศบค.ห่วงคนกรุงผ่อนคลาย COVID-19 เดินทางเฉียด 1 ล้านคน
โฆษก ศบค.ขอความร่วมมืองดการเดินทางออกนอกเมือง หลังแนวโน้มวันหยุดยาวคนแห่กลับภูมิลำเนาจนรถติดถนนสาย 304 ห่วง COVID-19 ระลอกใหม่ ขณะที่ กทม.เดินทางเฉียด 1 ล้านคน พบวันนี้ (1 พ.ค.) ป่วยรายใหม่ 6 คน ต่ำกว่าสิบคนเป็นวันที้ 4 รวมตัวเลข 2,960 คน

วันนี้ (1 พ.ค.2563) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงว่า ถือเป็นวันที่ 4 ที่มีผู้ป่วย COVID-19 รายใหม่ต่ำกว่าสิบคน โดยเพิ่มขึ้น 6 คน รวมสะสม 2,960 คน กระจายอยู่ใน 68 จังหวัด มีผู้หายป่วยเพิ่มขึ้น 32 คน รวมเป็น 2,719 คน ผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล 187 คน และไม่มีผู้เสียชีวิตใหม่ คงที่ 54 คน

กทม.ยังมีผู้ป่วยสะสมมากที่สุด ช่วงอายุเฉลี่ยที่ติดเชื้อมากที่สุด 39 ปีส่วนสำหรับปัจจัยเสี่ยงพบ 1 คนติดจากสถานที่ชุมชน ตลาดในกทม. ส่วนอีก 5 คนจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชนที่ จ.ยะลา 5 คน สัมผัสผู้ที่กลับมาจากพิธีกลับทางศาสนาในต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน

คนไทยกลับต่างประเทศอยู่ในพื้นที่กักตัวกว่า 1 หมื่คน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โลก มีผู้ป่วยสะสม 3,308,233 คน อาการหนัก 50,944 คน หายแล้ว 1,042,225 คน และเสียชีวิต 234,105 คน โดยสหรัฐอเมริกาพบมากสุด 1,095,210 คน ส่วนไทยอยู่ในอันดับ 60 ของโลก ส่วนสถานการณ์ในเอเชีย สิงคโปร์พบผู้ป่วยใหม่รายวันลดลงเหลือ 528 คน รวมตัวเลข 16,169 คน  

นอกจากนี้ มีคนไทยกลับจากต่างประเทศรวมทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 4-30 เม.ย.ที่ผ่านมา รวม 3,381 คน จาก 23 ประเทศ และวันนี้จะมีมาจากสิงคโปร์ 165 คน และชเนปาล 38 คน ส่วนพรุ่งนี้ (2 พ.ค.) จะมีคนไทยมาจากคาซัคสถาน 55 คน เนเธอร์แลนด์ 35 คน และ UAE 130 คน  

คนไทยที่เดินทางกลับมาทุกคนจะต้องเข้ากักตัว 14 วัน ซึ่งพบว่าภาพรวมมีทั้ง 2 ส่วนคือใน State Quarantine กว่า 4,000 คนส่วนใน Local Quarantine ใน 76 จังหวัด มีผู้อยู่ระหว่างกักตัว 5,922 คน  

สำหรับการฝ่าฝืนเคอร์ฟิวนั้น พบผู้ออกนอกเคหสถานโดยไม่มีเหตุอันครวร 607 คน และการชุมนุมมั่วสุม 154 คดี ซึ่งการกระทำผิดมากที่สุดยังเป็นเล่นการพนัน ต้องขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงเพราะเสั่ยงต่อการแพร่เชื้อ COVID-19 

ชี้ช่วงรอยต่อรอประกาศใหม่ให้ยึดประกาศฉบับ 4

โฆษกศบค.ตอบคำถามกรณีที่พบว่าการผ่อนปรนเริ่ม 3 พ.ค.มีคำถามว่าวันที่ 1-2 พ.ค.นี้จะต้องทำตัวอย่างไร โดยระบุว่า ตอนนี้เราอยู่ในพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ละส่วนมีข้อกำหนดที่ประกาศไว้แล้ว ซึ่งครบกำหนดไปวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยในช่วงรอยต่อของการรอผ่อนปรนอีก 2 วัน ดังนั้นจึงขอให้ยึดตามประกาศฉบับที่ 4 โดยออกมาตั้งแต่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมาโดยพล..อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และประธานศบค. โดยเนื้อหาหลักให้ยึดคำสั่งที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปเช่นเดิม จนกว่าจะมีคำสั่งอื่น

วันหยุดยาวงดเดินทางแต่คนทะลักออกนอกเมือง

ส่วนกรณีที่มีการเสนอในโซเชียลว่าวันหยุดยาวคนเดินทางกลับภูมิลำเนาจนทำให้ถนนถนนสาย 304 มีการจราจรจิดขัด โดยนพ.ทวีศิลป์ ยอมรับว่าบอกว่าน่ากังวลใจมาก เพราะหัวใจสำคัญในการป้องกันควบคุมโรค COVID-19 คือการงดเคลื่อนย้ายคน ที่ใช้กันในระดับโลก เพราะการเดินทางเป็นโอกาสเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อระลอกใหม่ได้

ขอความร่วมมือว่า หากไม่จำเป็นไม่ต้องเดินทาง แม้ว่าจะไม่ถึงบังคับใช้ว่าผู้เดินทางข้ามจังหวัดต้องมีใบรับรองแพทย์ แต่การนั่งนรถยนต์ส่วนตัวที่มีบุคคลอื่น ก็ควรต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเดินทาง เมื่อถึงภูมิลำเนาแล้วขอให้อยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปพบปะสังสรรค์กับใคร

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ ยังระบุว่าจากข้อมูลสถิติการเดินทางของ 3 สัปดาห์ของเดือนเม.ย.นี้ พบว่าประชาชนอาจจะเริ่มผ่อนปรนมากขึ้น โดยพบว่ามีการเดินทางมากขึ้นอย่างมีนัย ทั้งการใช้รถยนต์ส่วนตัว และขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงวันที่ 16 เม.ย. มีจำนวน 800,867 คน ต่อมาในวันที่ 23 เม.ย.ที่ผานมา ก็เพิ่มมากขึ้นเป็น 848,028 คน และในวันที่ 30 เม.ย.มีจำนวน 962,398 คน หรือเพิ่มขึ้น 13.5%

ตัวเลขการเดินทางในกทม.เพิ่มขึ้น ก็เข้าใจได้ว่าทุกคนคงสบายใจ ผ่อนคลาย และออกนอกบ้านมากขึ้น แต่ยังต้องจดจำไว้ว่าอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ

ทั้งนี้ ยังย้ำว่าในช่วง 14 วันถ้าทำดี และไม่มีคนป่วยเพิ่มจะส่งผลทำให้มีการขยายพื้นที่ให้คนเดินทางมากขึ้น ถ้าเราออกนอกบ้านก็มีความเสี่ยงกันทั้งนั้น เพราะตัวเลขของการติดเชื้อยังไม่ได้เป็นศูนย์ ดังนั้นขอฝากทุกท่านให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ด้วยถ้าออกนอกบ้านมีความจำเป็นก็ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง ขอให้ใส่ไว้ติดตัวจนกระทั่งเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายเราก็จะดีที่สุด 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง