“วิษณุ” เคลียร์ข้อสงสัย ซื้อ-ขายแอลกอฮอล์ เปิด-ปิดร้านอาหาร

สังคม
1 พ.ค. 63
21:35
5,277
Logo Thai PBS
“วิษณุ” เคลียร์ข้อสงสัย ซื้อ-ขายแอลกอฮอล์ เปิด-ปิดร้านอาหาร
วิษณุขยายความประเด็นสำคัญ ข้อกำหนด ตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อนุญาตซื้อ-ขาย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แต่ต้องไปดื่มที่บ้าน ให้ร้านอาหารเปิดได้ แต่ต้องมีระยะห่างตามมาตรฐาน ส่วนสถานบันเทิงให้ผู้ว่าฯ สั่งปิดต่อไป

วันนี้ (1 พ.ค.2563) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอส ถึงประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 6 หน้าที่ 2 เขียนว่า ร้านอาหารและเครื่องดื่มที่จำหน่ายสุราให้เปิดได้ แต่ห้ามการบริโภคและดื่มสุราภายในร้าน นั่นหมายความว่า สามารถซื้อไปดื่มที่บ้านได้ใช่หรือไม่

ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ต้องไปดื่มที่บ้าน

นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ครับ แต่ต้องเข้าใจอย่างนี้ครับว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ สุรา หรือไวน์ เป็นเครื่องดื่มที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ไม่ใช่สินค้าที่ผิดกฎหมาย ไม่ใช่สินค้นต้องห้าม เพราะฉะนั้นซื้อกันได้ ขายกันได้ เพียงแต่เราเป็นห่วงเรื่องการซื้อแล้วดื่ม ดื่มแล้วทำให้เกิดการมั่วสุมประชุมกัน จนกระทั่งไม่มีระยะห่าง และเกิดปัญหาอื่นตามมาด้วยได้ และระหว่างดื่มไม่สามารถที่จะสวมหน้ากากอนามัยแล้วก็ดื่มไปได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากเป็นการซื้อจากในร้านจำหน่ายสุรา ซื้อจากร้านอื่นใดก็ตามหรือร้านอาหารแล้วเอากับไปดื่มไปบริโภคที่บ้าน ไม่ผิดกฎหมายอะไร แต่ถ้าซื้อในร้านอาหารและดื่มในร้านนั้น เป็นความผิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า วันก่อนโฆษก ศบค.และปลัดกระทรวงมหาดไทย เพิ่งระบุเมื่อ 2 วันก่อนว่ายังเป็นข้อห้าม แต่วันที่อนุญาต มีที่มาที่ไปอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดก็ดี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็ดี จะหมดอายุลงในวันที่ 30 เมษายน พอหมดอายุลงแล้ว เขาก็จะต้องออกคำสั่งใหม่ของเขา ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ นั่นหมายความว่าจะเกิดคำสั่งใหม่ขึ้นมา คือ กทม.บวกกับอีก 76 จังหวัด

แต่ก็รู้อยู่ทั้งรู้ว่า ในไม่ช้ารัฐก็จะผ่อนปรน เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะผ่อนปรนวันไหน เพราะว่ากำลังดูมาตรการ ถ้อยคำและกฎระเบียบต่างๆ ในทางกฎหมาย ในทางการแพทย์ ในทางเศรษฐกิจอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่า ปล่อยให้ 76-77 จังหวัด ออกยืดคำสั่ง เราก็รู้ว่าอีกวันสองวันเขาก็ต้องมาแก้คำสั่งตรงนั้น แล้วก็รอคำสั่งกลางของรัฐบาล

ฉะนั้นจึงต้องออกข้อกำหนด ฉบับที่ 4 ออกมาว่า ที่เคยสั่งกันไว้แล้ว ทั้งผู้ว่าฯ กทม. สั่งหรือ ผู้ว่าราชการทั้ง 76 จังหวัดสั่ง ไม่ต้องไปทำอะไร ให้ใช้ต่อไปเพราะเรารู้อยู่แล้วว่า จะใช้ต่อไปอีก 2-3 วันเท่านั้น จนกระทั่งมาตรการต่างๆ เตรียมพร้อมแล้ว มันจะมีข้อกำหนดใหม่ ที่เป็นข้อกำหนดกลางออกมา แล้วค่อยไปใช้ข้อกำหนดกลางตรงนั้น

อันนี้จึงเป็นที่มาของข้อกำหนด ฉบับที่ 4 ที่ให้ยืดคำสั่งเก่าของผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วก็ยืดไป 2 วัน วันอาทิตย์ที่ 3 พ.ค.นี้ จะเกิดข้อกำหนด ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 6 มาแทน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผู้ที่ฝ่าฝืนก่อนถึงวันที่ 3 พ.ค.จะมีโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า จะมี 2 อย่าง คือ ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินด้วย และตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ด้วย

ถ้ามั่วสุมกันดื่มก็มีความผิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อกำหนดตรงนี้เป็นปลายเปิดหรือไม่ คือ ซื้อไปจากร้านแล้ว แต่ข้อห่วงใยก็คือ การไปรวมตัวชุมนุมดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นข้อท้วงติงของสาธารณสุขอยู่

แน่นอนครับ ตรงนั้นอาจจะมีความผิดเรื่องระยะห่าง อย่าว่าแต่ไปนั่งมั่วสุม 5 คน 10 คนไปดื่มสุรา ไปนั่งคุยกันก็มีความเสี่ยงมีความผิดแล้ว เพราะฉะนั้นไปนั่งคุยกัน 5 คน ดื่มเหล้า เสี่ยงมีความผิดฐานหนึ่ง แล้วก็มานั่งดื่มกันในเวลาเคอร์ฟิว ก็ผิดอีกฐานหนึ่ง

ร้านอาหารทำผิดมาตรฐานไม่ผิดกฎหมายแต่ถูกปิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในรายละเอียดที่บอกว่ามาตรการควบคุมหลัก มาตรการเสริม คำว่ามาตรการควบคุมหลัก หมายความว่า ผู้ที่จะดำเนินการต้องทำตามนี้เท่านั้นไม่อย่างนั้นจะผิดกฎหมายใช่หรือไม่

นายวิษณุกล่าวว่า เราเรียกว่าเป็นคำแนะนำมากกว่า ในการปฏิบัติหากมีร้านฝ่าฝืนเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่มีคำสั่งปิดร้านนั้นได้ ซึ่งคำสั่งนี้เป็นมาตรฐานกลางที่ใช้กันทั่วประเทศ เช่น ร้านอาหารเปิดพร้อมกันทั่วประเทศ แต่คำแนะนำหมายถึงในส่วนของกรุงเทพมหานคร ถ้าไม่มีการเว้นระยะห่างเจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้าไปเตือน ถ้าปฏิบัติตามก็จบ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ปิดเฉพาะร้านนั้นร้านเดียว ร้านอื่นไม่เกี่ยว ซึ่งเวลาเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจ เขาก็ต้องดูสภาพหลายอย่างประกอบกัน ให้เป็นดุลยพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่ต้องไปดูในรายละเอียด

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีมาตรฐานกลางแล้ว ทางแต่ละจังหวัดจพต้องไปออกระเบียบข้อบังคับ ที่ละเอียดปลีกย่อยลงไปเองอีกได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เขา ทำได้สองอย่างคือ 1.อาจจะออกรายละเอียดก็ได้ 2.อนุโลมตามคำแนะนำกลางที่ได้ออกมา เพราะคำแนะนำกลาง นายกรัฐมนตรีเป็นคนลงนามลงไป

สถานบันเทิง ผับบาร์ ยังไม่ให้เปิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า ร้านที่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ หมายถึงร้านค้าปลีก หรือร้านสะดวกซื้อ นายวิษณุกล่าวว่า ร้านทุกชนิด 1.สุราที่ขนขึ้นรถปิ๊กอัพไปส่งตามร้านค้าย่อยค้าปลีกทำได้ ค้าขายได้ เพราะไม่ได้ผิดกฎหมายในตัวมันเอง 2.เมื่อนำไปส่งตามเอเย่นต์แล้วเปิดขาย ก็ขายได้ซื้อได้ โดยนำกลับไปดื่มที่บ้าน ร้านอาหารเองก็สามารถจำหน่ายได้ ถ้าผู้ซื้อๆ กลับไปบ้าน แต่บริโภคในร้านไม่ได้

ส่วนสถานบันเทิง บริการผับบาร์ ยังมีคำสั่งปิดอยู่ โดยในข้อกำหนดฉบับที่ 5 ข้อ 2 (6) ระบุว่า ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ไปออกคำสั่งปิดสถานบริการ ผับบาร์ สถานบันเทิง ซึ่งนายกฯ ไม่ได้สั่ง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปปิดกันเอง ซึ่งต้องปฏิบัติด้วย ไม่ปิดไม่ได้ ถ้าขืนเปิดอีก ก็จะผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ

ดูระยะแรก ถ้าไม่มีติดเชื้อเพิ่มค่อยผ่อนปรนเพิ่ม

ผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อกำหนดต่างๆ ที่ออกมานี้เพื่อธุรกิจเดินได้ ให้มากที่สุดใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถูกต้อง แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการทบทวนและดูกันทุกวัน เพราะฉะนั้นเราต้องดูการเปิดระยะที่หนึ่ง ก่อนที่จะดูระยะที่สอง ลองเปิดดูก่อนแล้วเพื่อประเมิน เช่น สีขาวถ้าเปิดแล้วไปไม่รอด ก็อาจไปปิดในระยะที่สองได้ ถ้าจะปิดหรือเปิดก็ต้องออกข้อกำหนดฉบับใหม่มา อีกเป็นฉบับที่ 7 ผ่อนคลายเพิ่มเติมกันไป ก็ดูกันใน 7 วัน 14 วัน ถ้าเจ็ดวันมีติดหรือตายกันเยอะ ก็คงต้องถูกปิดเลยในวันที่แปด

เมื่อถามถึงคำสั่งนายกรัฐมนตรีเรื่อง การแต่งตั้งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม นายวิษณุกล่าวว่า เป็นไอเดียของนายกรัฐมนตรี เหมือนที่ได้ตั้งทีมแพทย์ อาจารย์แพทย์ ทีมเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ ผู้ที่มีอาวุโสในสังคมมาแล้ว ก็ถึงการรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการอีกวงหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการตั้งคณะนี้เพื่อเชิญมาหารือ รับข้อเสนอแนะ ในเรื่องของการ เมื่อเราจะฟื้นหรือเราจะรีสตาร์ท จะนิวนอร์มอล เป็นการรับฟังความคิดเห็น จากแวดวงวิชาการที่มีประสบการณ์ในทางปฎิบัติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง