ส่ง 2 ทีมหาสาเหตุผลตรวจผิดพลาด จ.ยะลา

สังคม
5 พ.ค. 63
13:22
1,400
Logo Thai PBS
ส่ง 2 ทีมหาสาเหตุผลตรวจผิดพลาด จ.ยะลา
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 มีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ พร้อมส่งผู้เชี่ยวชาญช่วยหาความผิดปกติห้องปฏิบัติการยะลาแล้ว

วันนี้ (5 พ.ค.2563) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงเรื่อง มาตรฐานการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยระบุว่า เชื้อไวรัส COVID-19 เป็นเชื้อโรคอุบัติใหม่ในช่วงแรกการตรวจหาไวรัส COVID-19 สามารถตรวจได้ที่ห้องปฏิบัติการ 2 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อสถานการณ์ของโรคไวรัส COVID-19 เพิ่มมากขึ้นจึงจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพในการตรวจให้มากขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากกว่า 150 แห่งทั้งภาครัฐและเอกชน

ทั้งนี้ การตรวจที่เป็นมาตรฐานหรือการตรวจหาเชื้อในคอ จมูก และทางเดินหายใจ ซึ่งวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส (RT-PCR) ข้อดีคือ สามารถหาได้ตั้งแต่ระยะแรกของการติดเชื้อ ขณะที่การตรวจชุดทดสอบรวดเร็ว (Rapid Test) การตรวจวิธีนี้จะทำได้หลังมีอาการป่วย 5-7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10-14 วัน

อย่างไรก็ตาม ขณะวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส (RT-PCR) ขั้นตอนการดำเนินการค่อนข้างซับซ้อน ผู้ดำเนินการต้องมีความเข้าใจ และมีระบบความปลอดภัยทางชีวะ ซึ่งช่วงแรกในการตรวจหาไวรัส COVID-19 จะต้องตรวจโดยผลยืนยัน 2 ห้องปฏิบัติการ 2 แห่งพร้อมกันจึงจะยืนยันผลการตรวจ

 

นพ.โอภาส กล่าวว่า หลังจากสร้างเครือข่ายทางห้องปฏิบัติการจะต้องมีมาตรฐาน คือ 1.มีนักเทคนิคการแพทย์ที่มีความเข้าใจการตรวจแบบ (RT-PCR) 2.มีเครื่องตรวจ (RT-PCR) 3.ผู้ตรวจต้องผ่านการทดสอบความชำนาญ และ 4.มีระบบควบคุมมาตรฐานให้ถูกต้องตามมาตรฐานของกรมควบคุมโรค โดยสามารถตรวจได้แล้วกว่า 22,7860 ตัวอย่าง

กรณีการตรวจที่ จ.ยะลา นั้นดำเนินการตามมาตรฐาน พบว่าการตรวจ Nagative Control มีผลเป็นตรวจว่าพบเชื้อ ซึ่งแสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ซึ่งตามมาตรฐานของห้องปฏิบัติการจะต้องหยุดตรวจ จากนั้นรายงานให้ทางจังหวัดรับทราบและหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นต่อไป ทั้งนี้ยืนยันว่าห้องปฏิบัติการ จ.ยะลา เป็น 1 ใน ห้องปฏิบัติการที่ผ่านเกณฑ์และผ่านเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อ โดยตรวจให้บริการในพื้นที่กว่า 4,000 ตัวอย่างในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา 

นพ.โอภาส กล่าวว่าทั้งนี้สาเหตุที่การตรวจโดยตัวเปรียบเทียบเป็นลบแล้วได้ผลเป็นบวกมานั้น พบว่า ความคลาดเคลื่อนหรือความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ โดยหลักความผิดพลาดเกิดได้จาก 3 สาเหตุ คือ 1.มนุษย์ Human Error 2.เครื่องมือ Machine Error 3.ระบบ System Error ดังนั้นหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นต้องหาสาเหตุและป้องกัน ซึ่งทางห้องปฏิบัติการจังหวัดยะลาตรวจพบและดำเนินการตามมาตรฐานที่ผ่านมา

"ยืนยันว่าการตรวจทางห้องปฏิบัติการจะไม่ได้ผล ซ้ำเดิมทุกครั้งตลอดไป จะมีโอกาสผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ ช่วงแรกของการตรวจห้องปฏิบัติการทั้ง 2 แห่งก็มีบางครั้งที่ไม่ได้ผลตรงกัน เมื่อผลตรวจไม่ตรงกันต้องนำตัวอย่างตรวจซ้ำอีกครั้ง หรือ หาห้องปฏิบัติการอื่นมาช่วยตรวจซ้ำยืนยันอีกครั้ง ซึ่งจะช่วยยืนยันว่าตัวอย่างนั้นพบเชื้อหรือไม่

นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า การเอาผลทางห้องปฏิบัติการไปแปรผลขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ด้วย เช่น แพทย์ที่นำผลไปเพื่อวินิจฉัยในการรักษาผู้ป่วย ขณะที่การตรวจเพื่อเฝ้าระวังแบบที่ สสจ.ยะลา ทำในการเฝ้าระวังเชิงรุกเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการอยู่ในชุมชน ฉะนั้นการแปรผลของห้องปฏิบัติการก็เป็นเครื่องมือหนึ่งไว้ใช้ในการช่วยวินิจฉัยและแปรผล

"ฉะนั้นจะต้องคำนึงถึงธรรมชาติของการเกิดโรค สถานการณ์การระบาดของโรคนั้น ๆ เช่น การเฝ้าระวังเชิงรุกในชุมชนที่ จ.ยะลา ปกติที่การตรวจลักษณะเช่นนี้โอกาสที่จะเจอผู้ป่วยจากการเฝ้าระวังเชิงรุก ส่วนใหญ่จะไม่เกินร้อยละ 5 ฉะนั้นเมื่อตรวจเจอและพบความผิดปกติก็จะต้องมีการสอบทานรายงานกันซึ่งก็ตรงกับที่ จ.ยะลา ดำเนินการ"

อย่างไรก็ตามกรณีของห้องปฏิบัติการ จ.ยะลา ขณะนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ลงไปสนับสนุนเพื่อช่วยห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลยะลาว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดความผิดปกติที่จุดใด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ต่อไปรวมถึงนำตัวอย่างมาตรวจที่ห้องปฏิบัติการอ้างอิงหรือห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่อไป"

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง