"ปลาปักเป้ายักษ์" โผล่เกาะรัง ในรอบ 13 ปี

สิ่งแวดล้อม
5 พ.ค. 63
15:57
4,864
Logo Thai PBS
 "ปลาปักเป้ายักษ์" โผล่เกาะรัง ในรอบ 13 ปี
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ทีมสำรวจทางทะเลหมู่เกาะช้าง จ.ตราด หลังเจอปลาปักเป้ายักษ์ขนาด 1 เมตรโผล่โชว์ตัว ระบุไม่เจอขนาดใหญ่มานาน 13 ปี บ่งชี้สัญญาณดีจากการปิดกิจกรรมท่องเที่ยวช่วง COVID-19

วันนี้ (5 พ.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จ.ตราด นำคลิปความยาวประมาณ 20 วินาที โดยระบุว่า ปิดโควิดอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างเจอสิ่งนี้ที่ไม่เจอมานาน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้างพบปักเป้ายักษ์​ ยาวเกือบ 1 เมตร ที่บริเวณหมู่เกาะรัง​ 

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายอดิเรก ใจช่วย หัวหน้าฝ่ายวิชาการหมู่เกาะช้าง จ.ตราด กล่าวว่า คลิปปลาปักเป้ายักษ์ ถ่ายได้เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเป็นการไปสำรวจทุ่นตามวงรอบ และสำรวจระบบนิเวศที่เกาะรัง หมู่เกาะช้าง โดยตัวที่เจอบังเอิญนี้มีความยาวประมาณ 1 เมตร ถือว่ามีขนาดใหญ่มาก และถ่ายด้วยกล้องโกโปร ในระยะห่างจากตัวปลาประมาณ 20 เมตร เนื่องจากเป็นการเจอโดยบังเอิญ และติดตามได้แค่ระยะไกลเพราะกลัวปลาจะตื่น

เป็นการเจอครั้งแรกในรอบ 13 ปีที่เกาะรัง ตั้งแต่เคยสำรวจพื้นที่มา เจอแค่ขนาดเล็ก 40-50 เซนติเมตร ไม่เจอขนาดใหญ่เท่านี้มาก่อน และกล้องโกโปรจึงอาจะดูเล็กกว่าตัวจริง   

ผลพวงปิดท่องเที่ยวปลาหายากโผล่ 

นายอดิเรก กล่าวว่า ตอนที่เจอปลาปักเป้ายักษ์ตัวนี้ทีมงานค่อนข้างตื่นเต้นมาก เคยเจอแต่ขนาดเล็ก ครั้งสุดท้ายเมื่อ 13 ปีก่อน ทีแรกไม่คิดว่าจะเป็นปักเป้ายักษ์ แต่เห็นว่ามีหน้าตาพิเศษต่างจากปลาตัวอื่นๆ เมื่อดูชัดๆจึงเห็นเป็นปักเป้ายักษ์ ที่เจอตัวยาก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการปิดเกาะไม่มีการท่องเที่ยวเข้ามารบกวนพื้นที่

ตอนนี้สำรวจพบปลาปักเป้ายักษ์ขนาด 1 เมตร ฉลามวาฬ ฉลามหูดำที่เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ทั้งนี้ระบบนิเวศทางทะเลจากการปิดท่องเที่ยวดีขึ้นทำให้เจอสัตว์ขนาดใหญ่ และสัตว์ที่เจอตัวยากถี่ขึ้น
ภาพ:อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง

ภาพ:อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง

ภาพ:อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง

เมื่อถามว่ามีสัญญาณดีจากการปิดท่องเที่ยวช่วง COVID-19 และมีการเรียกร้องให้ปิดอุทยานเพื่อฟื้นฟูนิเวศต่อเนื่อง นายอดิเรก กล่าวว่า เรื่องการปิดเกาะท่องเที่ยว ต้องตัดสินใจจากผู้บริหาร แต่สถานการณ์สิ่งแวดล้อมและนิเวศทางทะเลเริ่มมีผลพวงที่ดี ในมุมนักวิชาการมองว่าการปิดเกาะอย่างน้อย 3-4 เดือนต่อปีจะช่วยให้ทรัพยากรมีโอกาสฟื้นฟูตัวเอง 

ทั้งนี้จากข้อมูลระบุว่า ปลาปักเป้ายักษ์ หรือ ปลาปักเป้าลายเสือ หรือ ปลาปักเป้าก้นดำมีรูปร่างยาว หัวโต ลำตัวค่อนข้างกลม ส่วนท้ายแบนข้างเล็กน้อย ลำตัวสีขาว มีลายเลอะสีเทาและจุดสีดำเล็ก ๆ กระจายทั่วตัว มีความยาวเต็มที่ได้ถึง 120 เซนติเมตร

นับเป็นปลาปักเป้าชนิดที่ใหญ่-ที่สุดที่พบได้ในประเทศไทย เป็นปลาที่หากินในระดับใกล้กับหน้าดิน อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง กินสัตว์น้ำเล็ก ๆ ตามหน้าดินเป็นอาหาร และไม่ทำอันตรายต่อนักดำน้ำ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง