สธ.ชี้ผลตรวจ COVID-19 แล็บยะลา ตัวควบคุมมาตรฐานผิดปกติ

สังคม
6 พ.ค. 63
14:19
586
Logo Thai PBS
สธ.ชี้ผลตรวจ COVID-19 แล็บยะลา ตัวควบคุมมาตรฐานผิดปกติ
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงกรณีผลตรวจตัวอย่างเชื้อ COVID-19 จำนวน 40 คน จ.ยะลา คลาดเคลื่อนว่า เจ้าหน้าที่พบความผิดปกติของตัวควบคุมมาตรฐานจึงส่งตรวจเชื้อซ้ำ พร้อมหยุดปฏิบัติการและแจ้งผู้บังคับบัญชา ยืนยัน ทำตามมาตรฐาน ขอประชาชนเชื่อมั่น

วันนี้ (6 พ.ค.2563) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงชี้แจงกรณีผลตรวจเชื้อ COVID-19 40 คนของ จ.ยะลา โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้ จ.ยะลา พบผู้ป่วย COVID-19 จำนวนมาก จึงได้ดำเนินการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก

การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก เป็นการตรวจ RT-PCR ในห้องปฏิบัติารจะมีตัวควบคุมมาตรฐานหรือตัวเปรียบเทียบที่เป็นบวก (positive control) เมื่อตรวจแล้วจะต้องเป็นบวกเสมอ และอีกตัวควบคุมมาตรฐานที่เป็นลบ (negative control) ซึ่งปกติใช้น้ำเปล่า และจะเป็นลบเสมอ หากผลออกมาไม่เป็นไปตามปกติ เจ้าหน้าที่จะทำการหยุดตรวจทันที

เมื่อทำการตรวจเชื้อของคนใน จ.ยะลา แล้วพบว่า ตัวควบคุมลบกลายเป็นบวก ซึ่งจะถือว่าการดำเนินการคลาดเคลื่อนไม่น่าเชื้อถือ เจ้าหน้าที่จึงหยุดตรวจทันที พร้อมรายงานไปยังแพทย์ผู้สั่งตรวจและผู้บังคับบัญชา และนำตัวอย่าง 40 ตัวอย่างส่งไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลา พบว่า ผลเป็นลบ

หลังจากนั้นได้นำตัวอย่างดังกล่าวไปส่งตรวจอีกครั้งที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่วนกลาง เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา ผลก็ออกมาว่าเป็นลบ ทั้ง 40 คน เช่นเดียวกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลา ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าที่ห้องปฏิบัติการตรวจผลเป็นบวกนั้น เกิดความคลาดเคลื่อน

ต้องย้ำว่า การตรวจในห้องปฏิบัติการเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค COVID19 โดยจะต้องประกอบด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และการสอบสวนโรคจะต้องมีข้อมูลด้านระบาดวิทยาประกอบด้วย

นพ.โอภาส ระบุว่า เมื่อเกิดเหตุผิดปกติที่ตัวควบคุมลบเป็นบวก คณะผู้เชี่ยวชาญกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบสาเหตุ โดยไม่ได้พบความผิดปกติ หรือ major error และพบว่ายังมีบางอย่างที่สามารถพัฒนาเพิ่มเติมได้

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลาเล็งตรวจคู่ขนาน แล็บยะลา

ทั้งนี้ จ.ยะลา เป็นจังหวัดแรกที่สามารถตั้งห้องปฏิบัติการตรวจหา COVID-19 ได้ และที่ผ่านมาตรวจเชื้อไปแล้วกว่า 4,000 ตัวอย่าง ซึ่งถือว่ามีภาระงานจำนวนมาก เพราะต้องตรวจวันละ 700-800 ตัวอย่าง

การปรับปรุงแก้ไขต่อไป หากต้องตรวจเชื้อในขณะที่ยังมีภาระงานมาก อาจต้องส่งต่อให้ห้องปฏิบัติการอื่นช่วยตรวจ และเครื่องมือบางอย่างที่รับภาระงานเยอะ อาจต้องเพิ่มเครื่องมือสนับสนุนศักยภาพในการตรวจเชื้อ COVID-19 มากขึ้น โดยจะยังต้องตรวจสอบให้ชัดเจนต่อไปว่าความผิดพลาดอยู่จุดใด

ทั้งนี้ เมื่อมีการเปิดการตรวจทางห้องปฏิบัติการครั้งใหม่ ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลาจะมีการตรวจตัวอย่างคู่กันไป เพื่อให้เกิดความมั่นใจ จากนั้นจะเข้าสู่ระบบมาตรฐานการดำเนินงานต่อไป โดยคาดว่าอีกไม่นานจะกลับมาเปิดบริการตรวจห้องปฏิบัติการได้

ขอย้ำว่าการปฏิบัติงานในครั้งนี้ ดำเนินการตามมาตรฐาน สามารถค้นหาสาเหตุของการเกิดความบกพร่องและมีมาตรการในการดำเนินการตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ 

ผลในห้องปฏิบัติการคลาดเคลื่อนได้เสมอ

นพ.โอภาส ระบุว่า การตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการทั่วประเทศกว่า 200,000 ตัวอย่างที่ผ่านมา ถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถหาผู้ป่วยและทำการรักษาได้โดยเร็วจนหาย

ไทยมีอัตราการรักษาผู้ป่วยหายอันดับต้นๆ ของโรค COVID-19 ขอให้ประชาชนเกิดความมั่นใจว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ดำเนินการตรวจสอบ ปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา

การตรวจเชื้อในห้องปฏิบัติการสามารถเกิดความคลาดเคลื่อนได้เสมอ ฉะนั้นวิธีการคือต้องหาสาเหตุและวิธีป้องกันให้ได้โดยเร็ว

 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยะลายืนยันติดเชื้อเพิ่ม 40 คน คาดรู้ผลตรวจซ้ำวันนี้

ส่ง 2 ทีมหาสาเหตุผลตรวจผิดพลาด จ.ยะลา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง