พิษ COVID-19 อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยสู่จุดต่ำสุดในรอบ 9 ปี

เศรษฐกิจ
7 พ.ค. 63
13:34
6,070
Logo Thai PBS
พิษ COVID-19 อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยสู่จุดต่ำสุดในรอบ 9 ปี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2563 อาจหดตัวลงประมาณร้อยละ 21-25 นับว่าต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี เนื่องจากการส่งออกที่อาจลดต่ำลงมากไปแตะระดับ 750,000 - 780,000 คัน จากปีก่อนส่งออกได้กว่า 1 ล้านคัน คาดฟื้นกลับสู่ภาวะปกติได้กลางปี 64

วันนี้ (7 พ.ค.2563) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า วิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไปทั่วโลกในปัจจุบัน ส่งผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั้งในไทยและในระดับโลกอันเป็นปัจจัยหลักที่มีผลต่อคำสั่งซื้อรถยนต์จากทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาสู่ปริมาณการผลิตรถยนต์ในไทยปีนี้สู่จุดต่ำสุดในรอบกว่า 9 ปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินไว้เบื้องต้นจากมุมมองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบันว่ามีความเป็นไปได้ที่ปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2563 นี้อาจหดตัวลงอย่างมากประมาณร้อยละ 21-25 หรือผลิตรถยนต์ได้เพียง 1,520,000 - 1,590,000 คัน

สำหรับการผลิตที่ลดลงนี้คาดว่า เป็นผลมาจากการส่งออกที่อาจลดต่ำลงมากไปแตะระดับ 750,000 - 780,000 คัน หดตัวสูงถึงร้อยละ 26 - 29 จากที่เคยส่งออกได้ 1,054,103 คัน ในปี 2562 ขณะที่ยอดขายในประเทศก็มีความเสี่ยงที่จะลดลงไปแตะระดับ 800,000 - 820,000 คัน หรือหดตัวร้อยละ 19 - 21 จากปีก่อนที่ทำได้ 1,007,552 คัน ส่วนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์สู่ภาวะปกติอีกครั้งคาดว่า อาจเป็นช่วงกลางปี 2564 หรือถึงต้นปี 2565 หลังเศรษฐกิจโลกจะทยอยฟื้นฟูในช่วงปี 2564

ปรับรูปแบบการผลิต รับตลาดใหม่หลัง COVID-19 

นอกจากนี้ วิกฤตดังกล่าวยังได้ทำให้เห็นถึงปัญหาสำคัญในรูปแบบกระบวนการผลิตปัจจุบันซึ่งมีการพึ่งพิงฐานการผลิตเดียวมากเกินไปชัดเจนขึ้น ทำให้ค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนอาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนใหม่ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในอนาคต ด้วยการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ในห่วงโซ่อุปทาน


ทั้งนี้ แนวทางที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนจะนำมาใช้นับจากนี้อาจแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ การลดระดับระบบการผลิตแบบ Just In Time ลง ขณะที่อีกแนวทางเน้นลดการพึ่งพิงฐานการผลิตเดียวโดยการโยกฐานการผลิตออกสู่ประเทศที่เป็นฐานผลิตระดับยุทธศาสตร์ของภูมิภาค ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวนี้คาดว่าอาจจะทำให้เกิดทิศทางการจัดห่วงโซ่อุปทานการผลิตรูปแบบใหม่ที่ชัดเจนขึ้น ได้แก่ การใช้ platform ร่วมในแต่ละรุ่นรถยนต์และชิ้นส่วนทั้งภายในค่ายเดียวกันเองกับระหว่างค่าย และการรวบงานบางประเภทใน Tier ระดับต่างๆ เข้ามาอยู่ในกลุ่มบริษัทเดียวกันมากขึ้น โดยเฉพาะเข้ามาอยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันกับผู้ผลิตชิ้นส่วน Tier 1 ทำให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตสั้นลง (Shorten Supply Chain)

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโอกาสจะดึงดูดการลงทุนเข้ามาได้ แต่การเตรียมพร้อมรับมืออย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศใช้ระบบอัตโนมัติในกระบวนการผลิตมากขึ้นจะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันกับประเทศฐานผลิตอื่น โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังขยายตัว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง