พิษ COVID-19 ศาลชั้นต้น เลื่อนพิจารณาคดี 1.6 แสนคดี

อาชญากรรม
8 พ.ค. 63
16:36
3,465
Logo Thai PBS
พิษ COVID-19 ศาลชั้นต้น เลื่อนพิจารณาคดี 1.6 แสนคดี
เลขาธิการศาล ฯ เผยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ศาลชั้นต้นทั่วประเทศเลื่อนพิจารณาคดีจำนวนกว่า 1.6 แสนคดี เตรียมจัดทำโครงการ "เปิดศาลนอกเวลาราชการ" เพื่อเร่งระบายคดี ช่วยเหลือคู่ความให้ได้รับความเป็นธรรม

วันนี้ ( 8 พ.ค.2563) นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.)ซึ่งนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน ได้ออกประกาศเรื่องการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID-19) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 17 (1) และมาตรา 17 (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ให้ศาลชั้นต้นทุกศาลเลื่อนนัดพิจารณาคดีจัดการพิเศษทุกคดี ที่นัดไว้ในระหว่างวันที่ 24 มี.ค.63 ถึงวันที่ 31 พ.ค.63 โดยกำหนดวันนัดใหม่ในเวลาที่เหมาะสม นั้นจากรายงานสถิติข้อมูลจำนวนคดี ที่เลื่อนนัดพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ

1.วันที่ 24 -31 มี.ค.63 คดีแพ่งเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 2,494 คดี คดีผู้บริโภคเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 8,257 คดี คดีสิ่งแวดล้อมเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 1 คดี คดีอาญาเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 2,204 คดี คดีทรัพย์สิน ฯ เลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 26 คดี คดีแรงงานเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 521 คดี และคดีภาษีเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 11 คดี

2.วันที่ 1-30 เม.ย.63 คดีแพ่งเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 20,459 คดี คดีผู้บริโภคเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 52,825 คดี คดีสิ่งแวดล้อมเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 32 คดี คดีอาญาเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 15,403 คดี คดีทรัพย์สิน ฯเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 88 คดี คดีแรงงานเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 1,104 คดี คดีภาษีเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 25 คดี และคดีล้มละลายเลื่อนนัดพิจาจรณาคดี จำนวน 409 คดี

3.วันที่ 1-31 พ.ค.63 คดีแพ่งเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 12,721 คดี คดีผู้บริโภคเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 36,229 คดี คดีสิ่งแวดล้อมเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 65 คดี คดีอาญาเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 9,434 คดี คดีทรัพย์สิน ฯเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 92 คดี คดีแรงงานเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 736 คดี คดีภาษีเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 26 คดี และคดีล้มละลายเลื่อนนัดพิจารณาคดี จำนวน 458 คดี รวมคดีที่เลื่อนนัดพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 24 มี.ค.2563 ถึงวันที่ 31 พ.ค.63 จำนวน 163,620 คดี

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่าหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อสอดรับกับมาตรการของรัฐบาล ต้องการลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดต่อดังกล่าว ก.บ.ศ. จึงมีมติให้เลื่อนคดีจัดการพิเศษ คดีสามัญและคดีสามัญพิเศษที่นัดสืบพยานเดิม ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.2563 ถึงวันที่ 31 พ.ค.2563 และให้ไปกำหนดวันนัดสืบพยานใหม่ในเดือน มิ.ย. และเดือน ก.ค.2563 ส่วนคดีที่รับฟ้องใหม่ในเดือน มี.ค.ถึงเดือน พ.ค.2563 ให้กำหนดวันนัดพิจารณาคดีตั้งแต่เดือน ส.ค. และเดือน ก.ย.2563 เป็นต้นไป

แต่ถึงอย่างไรทางศาลก็ได้คำนึงถึงประชาชน ผู้มีอรรถคดี เป็นหลัก เพื่อไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน จึงได้กำหนดข้อยกเว้นบางคดีที่ไม่เลื่อน เช่น คดีอาญาที่จำเลยต้องขัง คดีแพ่งบางประเภท และคดีอื่น ๆ ที่เจ้าของสำนวนและองค์คณะพิจารณาเห็นว่าสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาไปได้ โดยไม่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้อง และหากเลื่อนคดีไปอาจทำให้คู่ความทั้ง 2 ฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหาย โดยคำนึงถึงความยินยอมของคู่ความ

ทั้งนี้ ศาลยังได้มีการกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการคดี โดยอาจใช้ดุลพินิจกำหนดให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หรือนำนวัตกรรมเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทออนไลน์มาดำเนินการช่วยให้คดีเสร็จไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคดีและการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งสอดรับกับนโยบายของประธานศาลฎีกา ในการนำเทคโนโลยีมาใช้อำนวยความยุติธรรม

นอกจากนี้ศาลอาจกำหนดให้มีการพิจารณาคดีเพิ่มเติมในช่วงนอกเวลาราชการ และวันหยุดราชการเพิ่มเติม ตั้งแต่เดือน มิ.ย.2563 โดยจะจัดทำเป็นโครงการเปิดทำการศาลนอกเวลาราชการเพื่อเร่งรัดการพิจารณาพิพากษาคดีที่เลื่อนมาดังกล่าวให้แล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การเลื่อนคดีจัดการพิเศษ คดีสามัญและคดีสามัญพิเศษที่นัดสืบพยานเดิมออกไป ซึ่งแน่นอนว่า มีผลกระทบอย่างมากต่อประชาชน คู่ความ และผู้มีอรรถคดี และถือว่าการเลื่อนพิจารณาคดีครั้งนี้ จำนวน กว่า 163,620 คดี เป็นการเลื่อนคดีที่มีจำนวนที่มากและต้องเลื่อนเป็นระยะเวลายาวนานสุดในประวัติศาสตร์ ก็ว่าได้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ศาลยุติธรรม จะยังไม่หยุดยั้งในการนำนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาในการอำนวยความสะดวกกับประชาชน ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง