คุมคนไทยจากต่างประเทศ - ตรวจเชิงรุกชุมชน ป้องกันแพร่ระบาดในกรุงเทพฯ

สังคม
9 พ.ค. 63
15:08
895
Logo Thai PBS
คุมคนไทยจากต่างประเทศ - ตรวจเชิงรุกชุมชน ป้องกันแพร่ระบาดในกรุงเทพฯ
กระทรวงสาธารณสุข เข้มข้นกักกันโรคคนไทยที่เดินทางจากต่างประเทศ และ จ.พื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันผู้ป่วยรายใหม่ในกรุงเทพฯ เน้นตรวจมาตรการเชิงรุกในชุมชน หมู่บ้านและคอนโด ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ เดินหน้าตรวจเชิงรุกผู้ป่วยติดเตียง

วันนี้ (9 พ.ค.2563) กระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดย นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองถึงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID -19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 วันนี้ พบผู้ป่วย 1 คน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องวางมาตรการในการวางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รองรับการผ่อนปรน โดยเน้นการค้นหามาตรการเชิงรุกในกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เช่น 1.ผู้ให้บริการสาธารณะ 2.กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ 3.กลุ่มผู้ต้องขัง 4.ชุมชนแออัดและแรงงานต่างด้าว

ทั้งนี้การตรวจเชิงรุกในชุมชนจัดการค่อนข้างยากเนื่องจากมีชุมนแออัดหลายแห่ง และขนาดใหญ่ เช่น ชุมชนคลองเตยโดยร่วมกับหน่วยงานเอกชนและกรุงเทพฯ เพื่อให้แน่ใจว่ามีผู้ป่วยหลงเหลือในชุมชนหรือไม่ หรือ กลุ่มเสี่ยงได้รับการคัดกรองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อไป ต่อมาคือ 2.ชุมชนเขตบางเขน ซึ่งไม่พบผู้ป่วยในพื้นที่ย่านบางเขนเลย

ขณะที่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ได้ดำเนินการในโรงพยาบาลแล้วเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดระหว่างเจ้าหน้าที่ต่อเจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่ต่อประชาชน ซึ่งผลตรวจไม่พบไม่มีเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19

อย่างไรก็ตาม ต้องเฝ้าระวังกลุ่มที่จะเข้ามาแพร่เชื้อ คือ กลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศและกลุ่มที่เข้ามาจากพื้นที่เสี่ยงเช่น จ.ภูเก็ต และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเดินทางกลับมาจะถูกกักกันโรคเป็นระยะเวลา 14 วัน โดยกลุ่มจากต่างประเทศยังคงเป็นกลุ่มใหญ่และต่อเนื่องซึ่งมีระบบ State Quarantine ในการดูแล

ด้าน นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการการป้องกันผู้ป่วยรายใหม่ โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ จะต้องกักกันตัวในสถานที่รัฐกำหนดไว้ คือ
State Quarantine ซึ่งขณะนี้จำนวน 20 + 3 แห่ง มีโรงแรมที่มีความพร้อมอีกกว่า 100 แห่ง โดยอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงกลาโหมและเอกชน

ขณะที่ Local Quarantine ดูแลโดยกระทรวงมหาดไทยมีในทุกจังหวัด และ Home Quarantine ซึ่งต้องดูความเหมาะสมในการสามารถกักกันโรคได้ หากไม่เหมาะสมจะต้องเข้ามากักตัวที่ Local Quarantine แทน

นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวว่า ทุกคนที่มาจากต่างประเทศต้องเข้าสู่การกักตัว แม้ช่วงแรกจะมีปัญหาในการเข้าสู่การกักกันโรค แต่ขณะนี้การจำกัดคนที่ 300 คนต่อวัน มีห้องพักทั้งหมด 5,000 ห้อง ขณะนี้เหลือห้องที่สามารถหมุนเวียนได้กว่า 1,000 กว่าห้อง โดยรัฐจะดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่มีบางส่วนที่เป็นโรงแรมจำนวน 3 แห่งประชาชนสามารถเลือกและจ่ายเงินเองได้

ขณะที่การเดินทางของประชาชนที่เดินทางในสนามบินในแต่ละจังหวัดให้เป็นไปตามคณะกรรมการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัดเช่น จ.ภูเก็ต ที่ยังพบผู้ป่วยรายใหม่จะต้องถูกกักกันโรคเป็นระยะเวลา 14 วัน ขณะที่บางจังหวัดอาจไม่มีการกักกันโรคเนื่องจากไม่พบผู้ป่วยรายใหม่

"ความสำเร็จในการกักกันโรค คือ การตรวจพบและสามารถนำไปสู่การตรวจคัดกรอง และรักษา ถือว่าเป็นความสำเร็จ ในการสามารถควบคุมผู้ติดเชื้อและช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไปยังชุมชนได้ "

ด้าน นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กล่าวว่า การป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หัวใจหลักคือ State Quarantine และ Local Quarantine ในการป้องกันการระบาดในระลอกที่ 2 ด้วยการเตรียมหน่วยบริการในการรองรับทั้ง โรงแรม สถานบริการ สถานบันเทิง และอื่น ๆ

รวมถึงการค้นหาเชิงรุกเพื่อตรวจสอบว่าผู้ป่วยรายใหม่ว่าตัวเลขที่ลดลงนั้นลดลงจริงหรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นใจในการวางมาตรการต่าง ๆต่อไป  ทั้งนี้ มาตรการเชิงรุกในชุมชนแออัดเพื่อให้การเข้าถึงชุมชนแออัดในพื้นที่กรุงเทพฯที่มีจำนวนประชาชนกว่า 1.2 แสนคน มีทั้งหมด 45 ชุมชน ทั้งที่จัดตั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมายซึ่งได้ลงพื้นที่ใน 16 ชุมชน ประชาชน 9,500 คน และได้ทำแบบสอบถาม 7,500 คน และคัดกรองพบผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ PUI จำนวน 275 คน ซึ่งผลตรวจที่ออกมาไม่พบผู้ติดเชื้อแม้แต่คนเดียว

นพ.เอนก กล่าววว่า สถานการณ์การระบาดในชุมชนแออัดสามารถควบคุมได้และไม่พบการติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังตรวจเชิงรุกในหมู่บ้านจัดสรรจำนวน 3 แห่ง พบผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์เฝ้าระวัง PUI จำนวนกว่า 300 คน และผลตรวจไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อ

การตรวจเชิงรุกในคอนโดมิเนียมใช้อาสาสมัครคอนโด รวมถึงมีรถตรวจเคลื่อนที่ในการเข้าไปตรวจ นอกจากนี้ยังมีการตรวจเชิงรุกในในเรือนจำ จำนวน 2 แห่ง ซึ่งไม่พบผู้ติดเชื้อ ดังนั้นจากการตรวจเชิงรุกจึงพบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่นั้นลดลงจริง แต่จุดที่ยังคงเสี่ยงก็คือ ผู้ที่เข้ามาในประเทศ และจุดที่ยังค้นหาไม่ครบ

"ในชุมชนแออัดมาตรการเว้นระยะห่างอาจทำไม่ได้ แต่พบว่าประชาชนสวมหน้ากากและล้างมือทั้งหมดซึ่งจะช่วยไม่ให้เกิดผู้ป่วยรายใหม่ และการช่วยให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างชัดเจน คือการดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ดังนั้นขอความร่วมมือหากประชาชนกลับจากที่ทำงานหรือหลังเดินทางออกไป ข้างนอกหากกลับเข้าบ้านควรล้างมือ อาบน้ำ ก่อนเข้าไปสัมผัสคนในครอบครัว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19"

นพ.เอนก กล่าวว่า การตรวจค้นชุมชนคลองเตยค้นทั้งหมด 275 คน เข้าข่าย PUI ซึ่งผลตรวจไม่พบผู้ป่วย แต่ความยากคือความยากของวัฒนธรรม ความหลากหลายของการเมือง และอากาศที่ร้อนมาก แต่การมีรถเคลื่อนที่สามารถช่วยได้อย่างดี ซึ่งขณะนี้จะยังคงลงไปยังชุมชนต่อเนื่อง ทั้ง กทม.ผู้นำศาสนา ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ จากนั้นจะไปดูผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ว่ามีเชื้อหรือไม่ ซึ่งสามารถคาดการณ์แนวโน้มว่าสถานการณ์ดีขึ้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง