หมอไทยเปิดประสบการณ์ หลากวิธีรักษา COVID-19

สังคม
11 พ.ค. 63
13:49
1,932
Logo Thai PBS
หมอไทยเปิดประสบการณ์ หลากวิธีรักษา COVID-19
แพทย์ไทยเปิดประสบการณ์รักษา COVID-19 เคสแรกใช้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ได้ผล ย้ำต้องเข้ารักษารวดเร็วและไม่ปกปิดอาการ ขณะที่สถาบันโรคทรวงอกใช้การนอนท่าคว่ำในผู้ป่วยปอดอักเสบ

วันนี้ (11 พ.ค.2563) ผศ.นพ.พจน์ อินทลาภาพร จากโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวถึงการดูแลผู้ป่วย COVID-19 ว่า ส่วนใหญ่ทางโรงพยาบาลดูแลผู้ป่วยอาการปานกลางถึงรุนแรง จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 69 คน ปอดอักเสบ 33 คน ปอดอักเสบรุนแรง 10 คน รักษาหาย 64 คน เสียชีวิต 4 คน ซึ่งอยู่ในกลุ่มปอดอักเสบรุนแรง

ผู้ป่วยไทยคนแรกใช้ "ฟาวิพิราเวียร์"

ผศ.นพ.พจน์ ยกตัวอย่างเคสที่สำคัญ 3 เคส ได้แก่ ผู้ป่วยหญิงอายุ 31 ปี มีอาการไข้ 11 วัน ต่อมาเริ่มมีอาการไอและเหนื่อยมากขึ้นนาน 5 วัน จึงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง 2 วัน และขอกลับบ้าน เมื่ออาการไม่ดีขึ้นจึงเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของรัฐ และถูกส่งต่อมาที่โรงพยาบาลราชวิถี พบปอดอักเสบจาก COVID-19 รักษาด้วยการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) Darunavir/Ritonavir Chloroquine Azithromycin หลังจากนั้น 3 วัน ผลตรวจ PCR ไม่พบไวรัส ซึ่งเป็นผู้ป่วยคนแรกที่ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ ทำให้ได้ข้อสรุปว่ายาดังกล่าวน่าจะมีประโยชน์และพิจารณาเข้าสู่แนวทางการรักษาในไทย

 

สำหรับตัวอย่างเคสที่ 2 เป็นชายไทยอายุ 55 ปี ป่วยมาแล้ว 13 วันและมีอาการปอดอักเสบ ก่อนเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล โดยให้การรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ จากนั้น 4 วันต่อมาเสียชีวิต ลักษณะปอดอักเสบรุนแรง ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ระบบหายใจล้มเหลว และยังตรวจพบไวรัสในร่างกาย เนื่องจากอายุมากและมาพบแพทย์ล่าช้า จึงแนะนำประชาชนว่าหากมีอาการแล้วไม่ควรปกปิด และรีบพบแพทย์ทันที

 

ส่วนตัวอย่างเคสที่ 3 เป็นหญิงไทยอายุ 57 ปี พบลูกสาวเป็นผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 โดยไม่มีโรคประจำตัว เมื่อเข้าสู่วันที่ 5 หลังตรวจพบเชื้อ เริ่มมีอาการไข้ ไอ และเหนื่อย พบปอดอักเสบ โดยให้ยาฟาวิพิราเวียร์และยาตามสูตร จากนั้นไข้ขึ้นต่อเนื่องตลอด 7 วัน จนกระทั่งรักษาแล้วไข้ลดและหายดี ผลเอกซเรย์ปอดดีขึ้น จึงสรุปได้ว่าแม้อายุมากและมีความเสี่ยงอาการรุนแรง แต่หากเข้ามารักษาเร็ว ไม่มีโรคประจำตัว ก็สามารถรักษาหายและได้กลับบ้าน

ทุกอย่างเป็นบทเรียนให้สื่อสารว่า ไม่ควรประมาท ถ้ามาเร็วและได้ยาด้วยก็มีโอกาสหายกลับบ้านได้

นอนท่าคว่ำ-ใช้ยากดปฏิกิริยาการอักเสบ

ขณะที่ พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ จากสถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า ทางสถานบันฯ ได้แยกตรวจ COVID-19 ในพื้นที่เฉพาะ และพัฒนาหอผู้ป่วยเฉพาะให้คนไข้ 4-6 คนอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ ในช่วงต้นของการรักษาให้ผู้ป่วยนอนท่าคว่ำตั้งแต่เริ่มเข้ามาโรงพยาบาลให้มากที่สุด ตั้งแต่เริ่มมีปอดอักเสบ 2 ข้าง เพื่อให้ออกซิเจนในเลือดดีขึ้น ไม่ต้องเข้าสู่อาการปอดอักเสบรุนแรงจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ประกอบกับใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ และใช้ยากดปฏิกิริยาการอักเสบกลุ่ม tocillizumab เพื่อชะลอโรค เนื่องจากปอดอักเสบจะรุนแรงในช่วง 2 สัปดาห์แรก

การนอนท่าคว่ำจะแนะนำในกลุ่มที่ปอดอักเสบ 2 ข้าง ทำให้จำนวนถุงลมที่มีมากกว่าในด้านหลังขึ้นมาอยู่ในด้านบนแทน การแลกเปลี่ยนออกซิเจนดีขึ้น แต่แนะนำในโรค COVID-19 เท่านั้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง