"กินข้าวคลุกน้ำปลา" แรงงานประชดถูกลอยแพนาน 2 เดือน

สังคม
13 พ.ค. 63
14:55
1,203
Logo Thai PBS
 "กินข้าวคลุกน้ำปลา" แรงงานประชดถูกลอยแพนาน 2 เดือน
กลุ่มผู้ใช้แรงงาน หิ้วปิ่นโตกินข้าวคลุกน้ำปลา ร้องขอความเป็นธรรมถูกนายจ้างลอยแพ 180 ชีวิต อ้างผลกระทบ COVID-19 ไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง และหักเงินทุกเดือน แต่ไม่ส่งเงินสมทบเข้าประกันสังคม

วันนี้ (13 พ.ค.2563) น.ส.สุรินทร์ พิมพา ประธานสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง กลุ่มแรงงานและผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมของบริษัทนครหลวงถุงเท้าไนล่อน จำกัด และเครือข่ายแรงงานกลุ่มสหภาพ แรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จ.นครปฐม เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีลูกจ้าง 180 ชีวิตถูกนายจ้างลอยแพนานกว่า 2 เดือน

โดยนายจ้างอ้างผลกระทบจากโรค COVID-19 จึงไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้าง นอกจากนี้บริษัทยังได้หักเงินทุกเดือน แต่กลับไม่นำส่งเงินสมทบประกันสังคม ทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิช่วยเหลือ รักษาพยาบาล

ทั้งนี้กลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ นำปิ่นโตใส่ข้าวเปล่าคลุกน้ำปลามานั่งกินกับไข่ต้ม ที่ด้านหน้ากระทรวงแรงงาน เพื่อสื่อว่ากำลังจะอดตาย 

น.ส.สุรินทร์ กล่าวว่า บริษัทฯ อ้างว่าไม่มีเงินทุนมาซื้อวัตถุดิบเพื่อมาผลิตสินค้า และได้มีการขายเครื่องจักรไปเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ก็ไม่มีการสั่งสินค้าเข้ามา บริษัทจึงใช้มาตรา 75 การยุบการทำงานในบางแผนกลง ไม่มีเอกสารแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร

บริษัทฯ สั่งพนักงานให้หยุดงานด้วยวาจาในหลายแผนก ไม่ได้บอกล่วงหน้า ไม่มีการติดประกาศให้พนักงานทราบ โดยให้สลับกันมาทำงาน

วอนจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมาย

ตัวแทนกลุ่มแรงงาน กล่าวว่า บริษัทฯ ไม่มีมาตรการจ่ายเงินชดเชยที่ชัด เจน  ไม่นำส่งเงินประกันสังคมให้แก่ลูกจ้าง เงินสมทบประกันสังคมที่นาย จ้างเก็บจากลูกจ้างเป็นประจำทุกเดือน ตั้งแต่ ส.ค.2562-ก.พ.2563 รวม 7 เดือน ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ และถูกตัดสิทธิ์การรับเงินเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคม ตามมาตรา 33 กรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย ตามมาตรการบรรเทา COVID-19 ดังนั้นจึงขอให้ กสร.เป็นตัวกลางในการเจรจากับนายจ้างในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน 

นายอภิญญา กล่าวว่า วันนี้เป็นการหารือยังไม่ใช่การร้องเรียน จึงต้องเข้าสู่กระบวนการร้องเรียนตามกฏหมาย เริ่มจากการยื่นคำร้อง เพื่อให้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเฉพาะสาเหตุเลิกจ้าง เบื้องต้นสั่งการให้คุ้มครองแรงงานจังหวัดนครปฐม ประสานกับ บริษัทนายจ้างเพื่อหาข้อมูลของการหยุดกิจการว่าเกิดจากเหตุผลใด ส่วนกรณีเงินสะสมจะใช้วิธีพูดคุยประนีประนอม โดยเจ้าหน้าที่จาก กสร.ดำเนินการให้ ขอให้มั่นใจว่า ลูกจ้างจะได้รับความช่วยเหลือตามกระบวนการอย่างถูกต้อง

คาดว่าภายใน 1 เดือนจะเร่งรัดการจ่ายเงินค้างจ่ายค่าจ้างโดยจะมีขึ้นหลังจากพนักงานตรวจแรงงานจะออกคำสั่งให้บริษัท นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างตามงวด

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง