“ทุเรียน” ราคากระฉูด! ออเดอร์จากจีนแน่น ดับฝันนักกินชาวไทย

เศรษฐกิจ
13 พ.ค. 63
22:35
15,374
Logo Thai PBS
“ทุเรียน” ราคากระฉูด! ออเดอร์จากจีนแน่น ดับฝันนักกินชาวไทย

ช่วงที่เกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศจีน ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ล่วงมาถึงต้นปีนี้ คอทุเรียนชาวไทยฝันว่าจะได้กินทุเรียนในราคาถูกอย่างแน่นอน เพราะตลาดใหญ่ของทุเรียนไทยอยู่ที่จีน เมื่อจีนนำเข้าไม่ได้ ขณะที่ผลผลิตทุเรียนออกมาประดังพร้อมกัน ราคาย่อมถูกลงอย่างแน่นอน

แต่แล้วความฝันก็ดับสลายไป เมื่อทุเรียนจากสวนในภาคตะวันออก ออกลูกมาทัน ในจังหวะที่จีนกลับมาเปิดเมืองพอดี

คำสั่งซื้อจากจีน ที่เคยคาดกันว่าจะเป็นศูนย์ กลับมามหาศาลเท่าเดิม แถมยังทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำไป ทำให้ในประเทศก็ต้องซื้อทุเรียนในราคาแพงตามไปด้วย

ขอบคุณภาพจาก FB : เรณู วันแอเลาะห์

ราคาขายปลีกสูงเท่ากับปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ ในช่วง COVID-19 เริ่มระบาดหนักในประเทศจีน คอทุเรียนชาวไทยเคยวาดฝันว่า ปีนี้จะได้กินทุเรียนราคาถูกลง เพราะคาดกันว่าทุกเรียนจากสวนในไทยจำนวนมากจะส่งไปขายในจีนไม่ได้ แต่ปรากฏว่าตอนนี้ ราคาทุเรียนขายปลีกที่พบทั่วไป ยังสูงถึงกิโลกรัมละ 150-170 บาท ใกล้เคียงกับปีก่อน

จีนประกาศปิดบางเมืองช่วงปลายเดือนมกราคม ทำให้ผู้ส่งออกทุเรียนเดือดร้อน เพราะตลาดใหญ่ในกว่างโจว ที่แม้ไม่ได้ปิดเมืองแต่ก็เหมือนปิด ไม่มีตลาดรับซื้อ คนจีนไม่ออกมาจับจ่าย

ล้งจีนที่เคยเหมาทุเรียนต้นฤดู กิโลกรัมละ 150-180 บาท ทิ้งเงินมัดจำ ขอยกเลิกออร์เดอร์นำเข้าจากประเทศไทย ด่านชายแดนก็ไม่มีคนงานจีนเข้าไปทำงาน ตั้งแต่ช่วงเทศกาลตรุษจีน ด่านบ่อหานและด่านโมฮาน มณฑลยูนนาน ไม่ปิดการนำเข้าและส่งออก แต่ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่คนจีนเข้าไป ผลไม้จึงตกค้างอยู่ที่จุดนั้น

ขอบคุณภาพจาก FB : เรณู วันแอเลาะห์

คาดการณ์ก่อน COVID-19 ระบาด ราคาจะตก

นอกจากความต้องการในจีน ณ เวลานั้น คิดว่าน้อยลงแล้ว ผลผลิตทุเรียน 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ระยอง จันทบุรี ตราด ที่ประเมินกันไว้ จะมากกว่าปีที่แล้ว กว่า 50,000 ตัน หรือ เพิ่มขึ้น 11 เปอร์เซ็นต์ ส่งออกไปก็ยาก คนจีนน่าจะกินน้อยลง แถมทุเรียนจะออกมากขึ้น ทำให้ประเมินกันว่า ราคาจะลดลงอย่างแน่นอน ผู้ส่งออกประเมินไว้ว่า ราคาจะตกเหลือเพียงกิโลกรัมละ 60-80 บาท

สถานการณ์พลิกจีนสั่งนำเข้า ล้งรับซื้อไม่อั้น

แต่เหตุการณ์กลับพลิกล็อก จีนปลดล็อกดาวน์เร็วกว่าที่คาด พอดีจังหวะที่ทุเรียนไทยออกสู่ตลาด คนจีนที่ถูกปิดเมืองก็อยากอุดหนุนสินค้าโดยเฉพาะอาหาร ล้งจึงกลับมารับซื้อไม่อั้น

ทุเรียนที่ล้งรับซื้อหน้าสวน ราคาจึงไม่ถูกเสียแล้ว ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา ราคารับซื้อที่สวนสูงถึงกิโลกรัมละ 125 บาท แพงที่สุดในเดือนมีนาคม เกือบกิโลกรัมละ 140 บาท แล้วค่อยๆ ปรับลงมา ซึ่งสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 104 บาท

ขอบคุณภาพจาก FB : เรณู วันแอเลาะห์

ล้งแข่งรับซื้อ-ส่งออก กระชากราคาพุ่งกว่าเดิม

เมื่อย้อนไปดูราคาเฉลี่ยทั้งปี ที่ล้งไปรับซื้อทุเรียนกันที่สวนเมื่อ 10 ปีก่อน ยังซื้อที่ราคา 20 กว่าบาทเท่านั้น แต่ปัจจุบันเพิ่มเกิน 4 เท่า โดยเฉพาะปีนี้ สูงเป็นประวัติการณ์ ราคานี้เกิดจากล้งแข่งกัน แย่งหาทุเรียนของป้อนตลาดส่งออกเป็นหลัก

นางทิพวรรณ คัณฑาทิพย์ ชาวสวนทุเรียน ต.วังสรรพรส อ.ขลุง จ.จันทบุรี เก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน รุ่นที่ 2 ขายให้กับล้งในพื้นที่ ที่มาซื้อแบบเหมาสวน เปิดเผยว่า ช่วงแรกกังวลว่า ราคาทุเรียนปีนี้อาจจะต่ำกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากตลาดจีนได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ช่วงเดือนก.พ. ทำให้ล้งหลายแห่งชะลอการรับซื้อ แต่เมื่อสถานการณ์ที่จีนดีขึ้น ปรากฏว่าความต้องการทุเรียนจากตลาดจีนยังคงมีอยู่

ชาวจีนมีความเชื่อว่าทุเรียนมีกำมะถัน กินแล้วเกิดความร้อน และช่วยป้องกัน COVID-19 ได้ ทำให้ผู้ส่งออกแข่งขันกันซื้อจากสวนเพื่อส่งไปขายประเทศจีน ส่งผลให้ราคาทุเรียนปีนี้ถือว่าดีกว่าทุกปี โดยราคาหน้าสวน ทุกลูกราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 100-130 บาท ขณะที่ปีที่แล้วอยู่ที่กิโลกรัมละไม่ถึง 100 บาท

ขณะที่ นายธวัชชัย จรรยา เจ้าของล้ง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นผู้ส่งออกทุเรียน บอกว่า แม้ในช่วงเริ่มการระบาดของโรค COVID-19 จะทำให้ล้งชะงัก หรือชะลอการเหมาสวนแต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น กลับพบว่า ความต้องการจากตลาดจีนยังคงมีสูง จึงทำให้เกิดการแย่งซื้อ แต่ราคาปลายทางที่ขายได้ไม่ได้สูงตามไปด้วย เพราะมีผู้ค้าจำนวนมาก

 ขอบคุณภาพจาก FB : เรณู วันแอเลาะห์ 

ราคาขายปลีก กระทบถึงคอทุเรียนคนไทย

เมื่อราคาสูงตั้งแต่หน้าสวนมาที่ล้ง ล้งจึงปล่อยขายทุเรียนในราคาสูงขยับตามกันไป มาถึงพ่อค้ารายย่อย โดยเฉพาะ รถเร่ขายทุเรียนที่พบเห็นกันตาม ริมถนนหลายสาย ซึ่งบางคนมาขายเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อหารายได้เสริมช่วงที่มีปัญหา COVID-19 ความคิดเดิมมองว่า ทุเรียนราคาดี น่าจะทำกำไรได้ แต่เมื่อรับมาขายจริงจึงรู้ว่าไม่ง่ายอย่างที่คิด

ผู้ค้าคนหนึ่งเห็นจังหวะราคาทุเรียนลดลงช่วงสองสัปดาห์ก่อน จึงคิดไปรับจากล้งที่ระยองมาขายในกรุงเทพฯ ปัญหาที่พบคือ ล้งไม่ได้ขายให้ในทันทีตามที่ต้องการ ล้งรอจนกว่าราคาทุเรียนขยับขึ้น จึงจะตัดส่วนที่เหลือจากส่งออกขายให้ ราคาต้นทุนจึงแพงกว่าที่คิด ล้งจะขายให้กิโลกรัม 120-125 บาท แถมยังขนส่งเข้ามาขายในกรุงเทพฯ ไม่สะดวกเหมือนในเวลาปกติ เพราะต้องพยายามเลี่ยงเคอร์ฟิว

ขณะที่พ่อค้าบางคน บอกว่า คุณภาพทุเรียนไม่ดี มีทุเรียนอ่อนมาก ประกอบกับอากาศร้อนที่จัด ทำให้ทุเรียนเสียหาย ราคาทุเรียนที่รับมาราคาจึงไม่แน่นอน และบางคนก็รับมาในจำนวนมากไม่ได้ เพราะมีทุนน้อย และเสี่ยงที่จะขาดทุนถ้าคุณภาพไม่ดี

 

ห่วงเกษตรกรขยายพื้นที่ปลูก เพราะเห็นราคาดี

นายปิยะ สมัครพงศ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี ระบุว่า ขณะนี้ผลผลิตทุเรียนใน จ.จันทบุรีทยอยออกสู่ตลาดแล้ว ร้อยละ 55 ซึ่งเกษตรกรยังคงขายได้ราคาดี แม้ในช่วง 1-2 วันนี้ ราคาจะปรับลดลงเล็กน้อยหรือต่ำกว่า 100 บาท อยู่ที่กิโลกรัมละ 85-95 บาทเนื่องจากการขนส่งที่เกิดความล่าช้า บริเวณชายแดน แต่เชื่อว่าราคาจะกลับมายืนในราคากิโลกรัมละ 100 บาท เนื่องจากตลาดจีนยังมีความต้องการ

และจากราคาทุเรียนที่สูงขึ้นจูงใจ ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มกว่า 13,000-14,000 ไร่ต่อปี คาดว่าจะเต็มพื้นที่ในอีก 2 ปีข้างหน้า เนื่องจากมีแหล่งน้ำเป็นตัวแปรสำคัญ

ราคาที่สูงส่วนหนึ่งถูกมองว่า เพราะล้งปั่นราคา ไม่ใช่มาจากความต้องการของตลาดจีนทั้งหมด เพราะกำลังซื้อของจีนชะลอลงจากปัญหาเศรษฐกิจเหมือนกัน ผลจากราคาถูกปั่นจนสูง อาจทำให้ชาวสวนเข้าใจว่า ตลาดเปิดกว้าง จึงตัดสินใจขยายพื้นที่ปลูกไป

เราคงไม่อยากให้ทุเรียนล้นตลาด และเกิดปัญหาในวันข้างหน้า เพราะการขยายพื้นที่ปลูกไปเรื่อยๆ ไม่อยู่บนฐานความต้องการที่แท้จริง ส่วนราคาทุเรียนที่ในประเทศแพงระดับร้อยกว่าบาท จุดเปลี่ยนคือการเปิดตลาดส่งไปจีนปริมาณมากเมื่อ 4-5 ปีก่อน เป็นราคาที่คอทุเรียนต้องรับมาระยะหนึ่งแล้ว

ขณะที่ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ความต้องการบริโภคทุกเรียนของจีน เพิ่มสูงขึ้น เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ใน 6 เดือนแรกของปี 2019 การส่งออกทุกเรียนไปยังประเทศจีน มีมูลค่าถึง 425 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 1.37 หมื่นล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง