พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังจำเป็นใช้คุมการระบาด COVID-19 ?

การเมือง
14 พ.ค. 63
08:29
231
Logo Thai PBS
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังจำเป็นใช้คุมการระบาด COVID-19 ?
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ระบุว่า การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่ที่การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี บนพื้นฐานสถานการณ์การควบคุมการระบาดCOVID-19 เพราะนายกรัฐมนตรีอยู่ในฐานะผู้รับผิดชอบบัญชาการ

วันนี้ (14 พ.ค.2563 )  ศาสตราจารย์ไชยันต์ ไชยพร นักวิชาการด้านรัฐศาลตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การใช้กฎหมายพิเศษภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาลในการรับมือกับวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19  อาจไม่ได้สะท้อนถึงความล้มเหลวการทำงานของระบบราชการ แต่ชี้ถึงเหตุจำเป็นที่รัฐบาลต้องใช้ ด้วยปัญหาเผชิญกับสภาวะที่ย่ำแย่จากภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข  และไม่ใช่เพียงประเทศไทยที่ใช้กฎหมายพิเศษ เพราะยังมีอีกมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลกที่ใช้กฏหมายพิเศษ 2 แบบ คือในลักษณะเดียวกันกับไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและทางการเมือง

 

แต่ไม่ได้ชี้ชัดว่ารัฐบาลควรขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินหรือไม่  นั่นเพราะหากเป็นรัฐบาลแต่ตัดสินใจผิดพลาดเกิดการระบาดในรอบสองก็จะถูกสังคมต่อว่าถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการ  ด้วยอำนาจการตัดสินใจเป็นของนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้รับผิดชอบ และเมื่ออ้างอิงตามข้อมูลด้านสาธารณสุขในต่างประเทศนั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์ในประเทศไทย อาจจะเกิดการแพร่ระบาดในระลอกสองได้ 

 

เป้าหมายของรัฐบาล ในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือความจำเป็นใช้เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสด้วยการใช้มาตรการเคอร์ฟิว  รวมถึงมาตรการปิดประเทศ ซึ่งด้วยกฏหมายปกติไม่สามารถดำเนินการได้  

ยังระบุว่า ยากที่จะบอกว่ามีเหตุผลปัจจัยใดที่จะอ้างอิงและเป็นเหตุผลในการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อ โดยไม่ให้เป็นข้อครหาในเชิงการเมือง แต่ยกตัวอย่างสถานการณ์ในตุรกีว่ายังคงมีความเคลื่อนไหวของฝ่ายค้าน ที่พยายามทำรัฐประหาร และการใช้กฎหมายพิเศษนี้ก็ได้รับผลประโยชน์ทางการเมืองไปในคราวเดียวกัน ซึ่งมีลักษณะก็คล้ายกันกับประเทศไทย ที่อาจใช้สำหรับการควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมือง นั่นเพราะก่อนหน้านี้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาคัดค้านการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลอยู่ด้วย และยังยกตัวอย่างการประกาศใช้กฎหมายภาวะฉุกเฉินของประเทศในสหภาพยุโรป ที่เป็นไปตามมาตรา 15 ของกฎหมายอียู ซึ่งมีการรับรองว่าจะไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนกินระยะเวลายาวนาน

 

ศาสตราจารย์ไชยันต์ ยังระบุว่า อิตาลีที่มีการประกาศบังคับใช้กฎหมายพิเศษถึงเดือนสิงหาคม รองลงมาฟิลิปปินส์ที่ใช้ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ส่วนลักเซมเบิร์กประกาศใช้ถึงกลางเดือนมิถุนายน ขณะที่ประเทศไทยล่าสุดประกาศใช้ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมพร้อมกับไซปรัส โคมลอมเบีย เอสโตเนีย โดยยังมีอีกหลายประเทศที่ยังไม่กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน ด้วยเหตุผลปัจจัยในการควบคุมการแพร่ระบาด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง