สธ.พร้อมเปิดทันตกรรมเน้นฉุกเฉินเร่งด่วน แนะโทรนัดก่อน

สังคม
14 พ.ค. 63
14:25
1,281
Logo Thai PBS
สธ.พร้อมเปิดทันตกรรมเน้นฉุกเฉินเร่งด่วน แนะโทรนัดก่อน
รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยโรงพยาบาลสังกัด สธ.พร้อมเปิดบริการทันตกรรม เน้นบริการภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน แนะประชาชนก่อนเดินทางไปโรงพยาบาลควรประเมินความเสี่ยง COVID-19 และโทรนัดก่อน

วันนี้ (14 พ.ค.2563) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงแนวปฏิบัติการเปิดคลินิกทันตกรรม ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยระบุว่า สธ.จะขยายบริการที่เข้าสู่ใกล้ภาวะปกติทางด้านทันตกรรมมากขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องเตรียมตัวก่อนมาใช้บริการ โดยแนะนำให้ใช้แอปพลิเคชันของโรงพยาบาลราชวิถี ในการคัดกรอง COVID-19 ด้วยต้นเองเบื้องต้น หากมีความเสี่ยงตามแบบประเมินและมีประวัติที่โรงพยาบาลก็สามารถไปรับบริการตรวจโรค COVID-19 ได้ก่อน โดยยังไม่ต้องไปทำฟัน

 

แต่หากทำแบบประเมินแล้วไม่มีความเสี่ยงใดๆ จึงอยากแนะนำว่าก่อนจะไปโรงพยาบาลเพื่อทำทันตกรรม ขอให้โทรไปปรึกษาโรงพยาบาลที่เคยใช้บริการมาก่อนว่ามีบริการที่ต้องการทำหรือไม่ หรือปรึกษาอาการก่อนเพื่อนัดมาใช้บริการ แต่อย่าเพิ่งรีบร้อนไปโรงพยาบาล เพราะอยากให้มีคนไปรวมตัวที่โรงพยาบาลน้อยที่สุด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ด้านทันตกรรม

อาการฉุกเฉินเร่งด่วนที่แนะนำให้ไป รพ.

ที่ผ่านมาเปิดให้บริการเฉพาะภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน ซึ่งอาการฉุกเฉินเร่งด่วนที่แนะนำให้ไปโรงพยาบาล ประกอบด้วย เหงือกหรือฟันปวดบวม ทานยาแก้ปวดยาฆ่าเชื้อไม่หาย, เครื่องมือจัดฟัน ฟันเทียมแตกหักทิ่มแทงเนื้อเยื่อ ครอบฟันชำรุด, เลือดออกภายในช่องปาก, อุบัติเหตุ ปวดบวมบริเวณใบหน้าและขากรรไกร และกรณีการรักษาเฉพาะทางที่มีการดูแลร่วมกันระหว่างแพทย์และทันตแพทย์

ใน 5 ภาวะนี้ถือว่ามาโรงพยาบาลได้ แต่ควรโทรนัดและบอกว่าเร่งด่วน ซึ่งหมอจะจัดคิวให้เลย

 

นอกจากนี้ยังมีโรคที่ไม่เร่งด่วน เช่น ภาวะที่นัดเป็นประจำ ซึ่งแพทย์ได้นัดติดตามอยู่แล้ว อย่างการรักษาคลองรากฟัน ฟันผุลึกที่หมออุดไว้ชั่วคราว ซึ่งหากปล่อยไว้นานอาจเกิดการติดเชื้อ โดยจะต้องโทรนัดก่อน แต่อาจจะไม่ได้คิวแรกๆ เพราะต้องจัดคิวไว้ให้คนที่มีภาวะเร่งด่วนและฉุกเฉินก่อน ส่วนภาวะอื่น เช่น การขูดหินปูน จัดฟันใหม่ รวมถึงตรวจสุขภาพฟัน ขอให้เลื่อนไปก่อน แต่หากไม่แน่ใจอาการขอให้โทรสอบถามกับสถานพยาบาลที่รักษาต่อเนื่อง

ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะเปิดให้บริการไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของโรค COVID-19 เนื่องจากบางจังหวัดมีความเสี่ยงมาก ซึ่งคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อระดับจังหวัดมีอำนาจในการปิดคลินิกทันตกรรม เพราะการทำฟันอาจทำให้เกิดละอองฝอยและฟุ้งกระจาย ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ จึงขึ้นอยู่กับแนวทางของแต่ละจังหวัด

รพ.เตรียมพร้อมรองรับผู้ใช้บริการทันตกรรม

นพ.ณัฐพงศ์ ยังกล่าวถึงการเตรียมสถานพยาบาลเพื่อรองรับผู้ใช้บริการทันตกรรม โดยจะคัดกรองผู้มาใช้บริการ ซักประวัติ พร้อมจัดระบบบริการของสถานพยาบาล เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าโรงพยาบาลในสังกัด สธ.มีมาตรฐานในการรักษาความสะอาดตามมาตรฐานป้องกันโรคติดเชื้อ ยึดหลักเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยและล้างมือ อีกทั้งยังจัดโซนนิ่งระหว่างที่นั่งคอยไม่ให้ปะปนกัน

ขณะที่บางจังหวัดอาจมีบริการทางไกล หรือวิดีโอคอล เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเดินทางมาโรงพยาบาล แต่วิธีการดังกล่าวสามารถรักษาได้บางภาวะเท่านั้น ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจ เพราะโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ทั้งหมด ตั้งแต่โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัด และโรงพยาบาลระดับภาค มีมาตรฐานในการดูแลและป้องกันการติดเชื้อในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งบริการทันตกรรมทั้งหมดที่จำเป็นในขณะนี้ สธ.สามารถจัดบริการได้ครอบคลุม ทั่วถึงและเข้าถึงได้อย่างพอเพียง อีกทั้งยังมีความปลอดภัยกับสถานพยาบาลและผู้มารับบริการ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศบค.ผุด "ไทยชนะ" เช็กอินคนใช้พื้นที่-คุมสอบสวนโรค

"ความปรกติใหม่" ราชบัณฑิตฯ บัญญัติศัพท์ "New normal" แล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง