"อนุทิน" ยันฟื้นฟูการบินไทยทางเลือกสุดท้าย รอถกคลังถือหุ้นใหญ่

การเมือง
15 พ.ค. 63
14:34
630
Logo Thai PBS
"อนุทิน" ยันฟื้นฟูการบินไทยทางเลือกสุดท้าย รอถกคลังถือหุ้นใหญ่
“อนุทิน” ระบุ ”นายกฯ” เห็นด้วยให้ฟื้นฟูการบินไทย ย้ำเป็นหนทางที่ดีที่สุด แนะต้องยอมถอยคนละก้าว เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ ไม่เช่นนั้นก็ต้องขายทอดตลาด

วันนี้ (15 พ.ค.2563) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เรียกนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม ในฐานะกำกับดูแลการบินไทย เข้าหารือประมาณครึ่งชั่วโมง

นายอนุทิน เปิดเผยภายหลังการหารือว่า การบินไทยถือเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ส่วนการเพิ่มเงินจากกระทรวงการคลัง ไปค้ำประกันหนี้หรือหาเงินทุน เพื่อจะมาลงก็ลำบาก ซึ่งก็น่าจะเหลืออยู่วิธีการเดียวคือการฟื้นฟูการบินไทย

ซึ่งการฟื้นฟูกิจการจะต้องมีขั้นตอนทำไปพร้อมๆ กับการปรับโครงสร้างผู้บริหารการบินไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการได้ เป็นสิ่งที่หารือกันเบื้องต้นในขณะนี้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นใหญ่ของการบินไทย ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นหลัก แต่วันนี้ทางกระทรวงการคลังไม่ได้มาหารือด้วย นายกรัฐมนตรีก็มีความเห็นไปในทางเห็นด้วยที่จะให้มีการฟื้นฟูกิจการการบินไทย ซึ่งถือเป็นวิธีการที่สวยที่สุด ถ้าทุกคนและทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ การบินไทยก็จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

การบินไทยทำแผนฟื้นฟูมาแล้วหลายรอบ แต่ยังไม่ได้ผล ที่ผ่านมาเป็นแผนการฟื้นฟูกิจการภายใน ไม่ใช่แผนการฟื้นฟูหนี้ ขณะนี้กำลังฟื้นฟูหนี้ที่มีอยู่ ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ ทั้งนี้ คนที่ยื่นฟื้นฟูกิจการไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหนี้อย่างเดียว เจ้าหนี้ที่มีหนี้ มากกว่า 10 ล้านบาท ก็สามารถยื่นขอให้ฟื้นฟูกิจการได้

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ในหมวดฟื้นฟูกิจการ จะมีเงื่อนไขที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าอะไรบ้างที่เข้าในกระบวนการฟื้นฟูกิจการเช่น 1.มีหนี้สินล้นพ้นตัว มีส่วนของหนี้สินเกินกว่ากี่เท่า 2.ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ซึ่งก็ต้องไปดู และ 3.ในส่วนของผู้ถือหุ้น หรือส่วนทุน เป็นลบ ก็ต้องดูว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่ นอกจากนี้ก็มีรายละเอียดอีกหลายข้อ และไม่ใช่ต้องเข้าทั้งหมดมีเพียงข้อใดข้อหนึ่งก็ยื่นขอฟื้นฟูได้

เรื่องนี้ก็ต้องแข่งกับเวลา ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการแล้วก็เป็นเรื่องของเจ้าหนี้และลูกหนี้โดยมีศาลเป็นผู้กำกับ และจะต้องมีผู้ทำแผน เมื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการแล้ว อำนาจการบริหารจัดการบริษัทนั้นๆ ก็จะอยู่กับผู้ทำแผนที่ศาลเป็นผู้แต่งตั้งโดยเป็นความเห็นชอบทั้งจากเจ้าหนี้และลูกหนี้

นายอนุทินกล่าวว่า ผู้ทำแผนต้องมีหน้าที่เจรจากับเจ้าหนี้ และทำแผนฟื้นฟูกิจการขึ้นมา ถ้าตกลงกันได้ก็ไปโหวตที่ศาล หลังจากนั้นผู้ทำแผนก็หมดหน้าที่ไป เป็นหน้าที่ของผู้บริหารแผนที่ต้องทำตามแผนฟื้นฟูกิจการตามที่ศาลมีคำพิพากษามา ซึ่งมีขั้นตอนอีกมาก

วันนี้ต้องเร่งหาข้อสรุปในตัวนโยบาย โดยนายกรัฐมนตรี บอกว่า ต้องฟื้นฟูกิจการ ถ้าไม่ฟื้นฟูเราไปต่อไม่ได้ ตอนนี้เรามีสถานการณ์ COVID สายการบินก็ไม่ได้บิน เดินทางเข้าประเทศต่างๆ ก็ไม่ได้ สายการบินในประเทศรายได้ก็หายไปมาก

ผมคิดว่าตอนนี้เหลือเพียงซอยเดียวแล้ว การฟื้นฟูกิจการเป็นทางที่ดีที่สุด ทุกคนต้องถอยกันบ้าง เพียงแค่ก้าวเดียว ก็จะเดินหน้าไปได้ 5 ก้าว ซึ่งเราควรจะต้องทำ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นกระทรวงคมนาคมที่ผมกำกับดูแล เพียงได้แต่เสนอเท่านั้น แต่ทั้งหมดอยู่ที่ผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ก็ต้องไปพูดคุยกันอีกครั้ง

นายอนุทินกล่าวอีกว่า สำหรับเจตนารมณ์ของการฟื้นฟูกิจการภายใต้พ.ร.บ.ล้มละลาย หลักการคือเมื่อคนสะดุดล้มด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม แทนที่จะขายทรัพย์สินหรือขายทอดตลาด แล้วนำมาแบ่งเฉลี่ย อาจจะได้คนละนิดหน่อย แต่การให้โอกาสในการฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎกติกามารยาทใหม่ทั้งหมด กิจการนี้ก็อาจจะรอด ธุรกิจก็เดินหน้าต่อไปได้ ส่วนใดที่ไม่มีมูลค่าก็อาจกลับมามีค่าก็ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้

คนที่ตั้งใจทำ ต้องให้ความร่วมมือดีทั้งผู้ถือหุ้นและลูกหนี้ พนักงาน กิจการก็จะสามารถกลับมาใหม่ได้ แต่ถ้าทุกคนไม่ให้ความร่วมมือ อะไรก็ไม่เอา อะไรก็ไม่ได้ เจ้าหนี้ก็ไม่มีทางเลือก ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องขายทอดตลาด หลักการก็มีอยู่แค่นี้

สำหรับรัฐบาล โดยเฉพาะหัวหน้ารัฐบาลอย่างนายกรัฐมนตรี ก็อยากให้มีการฟื้นฟูกิจการก่อน การไปขายทอดตลาด หรือปล่อยให้ล้มละลายไม่มีอยู่ในหัวของนายกรัฐมนตรี เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ถือเป็นทิศทางที่ดี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง