ชวน "ผู้ประกอบการ-ประชาชน" รู้จักแอปฯ-แพลตฟอร์มสู้ COVID-19

Logo Thai PBS
ชวน "ผู้ประกอบการ-ประชาชน" รู้จักแอปฯ-แพลตฟอร์มสู้ COVID-19
กระทรวงสาธารณสุข แถลงเกี่ยวกับแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มสู้ COVID-19 เพื่อให้ประชาชนและสถานประกอบการได้ใช้บริการกิจกรรมหรือกิจการที่ผ่อนคลายระยะ 1 และ 2 อย่างปลอดภัย

วันนี้ (20 พ.ค.2563) นพ.อนันต์ กนกศิลป์ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานพยาบาลกว่า 1,400 โรงพยาบาลทั่วประเทศ และมีสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงต่างๆ และภาคเอกชนอีก โดยแต่ละหน่วยงานมีบทบาทภารกิจที่แยกสัดส่วนกัน เพราะฉะนั้นการทำให้ศูนย์กลางการดูแลได้รับข้อมูลผู้ป่วย COVID-19 ที่ถูกต้องและแม่นยำ

ศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร จึงได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มหลักระบบสุขภาพแห่งชาติ (national heathcare platform) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มหลักในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยทั้งประเทศ โดยได้ขอความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ บริษัท ก ส ท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อเร่งดำเนินการ โดยจะเป็นแพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลทุกระบบของผู้ป่วย COVID-19


สำหรับภารกิจหลักของแพลตฟอร์มนี้มีอยู่ 4 ข้อ คือ ควบคุมป้องกันโรค ยืนยันผู้ป่วย ให้การรักษา และช่วยสนับสนุนทรัพยากร โดยทั้ง 4 ภารกิจต้องเน้นพัฒนาเพื่อให้รองรับการมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในอนาคต และเพื่อประมวลสถานการณ์ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งเรื่องของเตียง เครื่องช่วยหายใจ อุปกรณ์ป้องกันสำหรับบุคลากรว่าจะมีเพียงพอหรือไม่ เพื่อตอบโจทย์การตอบโต้สถานการณ์ COVID-19

แพลตฟอร์มนี้ทำให้เราสามารถบอกได้ว่าทรัพยากรมีอยู่เท่าไหร่ ตัวเลขจริงๆ ของผู้ป่วย แยกระดับความรุนแรง รวมถึงข้อมูลการใช้ห้อง ใช้เตียงในการรักษา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของข้อมูล

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบเพื่อเตรียมรองรับการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดความซ้ำซ้อน ลดภาระงานของบุคลากร ในกรณีที่ COVID-19 อาจจะกลับมาระบาดในระลอก 2 ได้

Thaistopcovid แนวทางผู้ประกอบการพร้อมเปิดร้าน

นพ.บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า ได้พัฒนาแนวทางสำหรับผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 50 กิจการ/กิจกรรม พร้อมพัฒนาแพลตฟอร์ม Thaistopcovid โดยผู้ประกอบการสามารถเช็กลิสต์เกณฑ์ มาตรการต่างๆ ผ่าน "Thaistopcovid" เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้า ก่อนจะมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ในระยะต่อไป


การทำงานเน้นกิจกรรม/กิจการที่ยังไม่มีการผ่อนปรน โดยมีสถานประกอบการจับมือกับกรมอนามัยในการเตรียมความพร้อมมาตรการต่างๆ แล้วหลายแห่ง ซึ่งบางแห่งได้เตรียมพร้อมมาตรการมากกว่าที่ ศบค.กำหนดไว้ เพื่อป้องกัน COVID-19

เมื่อสถานประกอบการลงทะเบียนเพื่อไปดูมาตรกรต่างๆ พร้อมเช็กลิสต์ว่าทำตามาตรการต่างๆ แล้ว ร้านของท่านจะขึ้นโชว์ในแผนที่ "Thaistopcovid" เพื่อยืนยันว่า ผ่านมาตรฐานกรมอนามัยแล้ว

ส่วนประชาชนสามารถเข้ามาเรียนรู้ข้อมูลข่าวสารกรมอนามัย และแนวทางปฏิบัติในการเข้าไปในสถานประกอบการต่างๆ โดยประชาชนสามารถสแกนคิวอาร์โค้ด เมื่อเข้าไปใช้บริการแล้วพบว่า สถานประกอบการไม่ดำเนินการตามมาตรฐานหรือมาตรการของกรมอนามัยก็สามารถร้องเรียนได้ หากมีการร้องเรียนกรมอนามัยจะนำหมุดกิจการ/กิจกรรมออกจากในแผนที่ Thaistopcovid


ทั้งนี้ หลังมีแพลตฟอร์มไทยชนะแล้ว กรมอนามัยจะไปเน้นเรื่อง pre-opening เพื่อให้สถานประกอบการเตรียมความพร้อม เมื่อมีการผ่อนปรนก็สามารถเปิดให้บริการได้ทันที ซึ่งสถานประกอบการบางแห่งต้องมีการเตรียมความพร้อมจำเพาะ หากไม่มั่นใจสามารถปรึกษากรมอนามัยเพื่อออกแบบมาตรการร่วมกันได้

 

"หมอชนะ" ประเมินความเสี่ยง เน้นจำเส้นทางเตือนไวรัส

นพ.เฉวตสรร นามวาท กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า แอปพลิเคชัน "หมอชนะ" เป็นการร่วมมือหลายภาคส่วน ไม่ใช่แอปฯ จากราชการอย่างเดียว แต่มีภาคประชาชนเข้ามาช่วยพัฒนาด้วย ขณะที่มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดูแลความปลอดภัย และกรมควบคุมโรคได้เข้าไปให้หลักการและแนวทางต่างๆ


ลักษณะเด่นของหมอชนะ เป็นแอปพลิเคชันที่ประชาชนดาวน์โหลดได้ โดยจะเป็นตัวบันทึกเส้นทางการเดินทางโดยไม่ระบุตัวตน ส่วนที่ระบุตัวตนจะแยกเก็บรักษาข้อมูลในกรณีต้องใช้เพื่อการสอบสวนโรค

เวลาเราเดินทางไปไหน หากใช้แอปฯ หมอชนะ วันหนึ่งอาจมีข้อความเตือนว่า เมื่อ 5 วันก่อน มีคนเข้ามาใกล้หรือทับเส้นทางกัน ซึ่งคนนั้นเป็นผู้ป่วยยืนยัน ก็จะทำให้ทราบได้ว่าตัวเราต้องไปพบแพทย์ ตรวจรักษาหรือกักตัวเอง

ทั้งนี้ การแจ้งเตือนจะไม่เปิดเผยตัวตนของผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 แต่เป็นเพียงการแจ้งว่าเคยพบผู้ป่วยยืนยันจากข้อมูลเส้นทางเท่านั้น อีกทั้งแอปฯ หมอชนะยังมีฟังก์ชันให้ประเมินความเสี่ยงตัวเอง ซึ่งส่วนนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการซักประวัติที่โรงพยาบาล เมื่อไปเชื่อมโยงกับไทยชนะ ที่ไปห้างร้านฯ จุดเดียวกัน เมื่อผ่านไป 4-5 วัน ก็จะย้อนประวัติกลับไปได้ว่ามีใครควรจะเข้ารับคำปรึกษาหรือทำอย่างไรต่อไป

"ไทยชนะ" ตัวช่วยสอบสวนโรค เมื่อพบผู้ป่วย

นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการ กระทรงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า สำหรับแพลตฟอร์มไทยชนะนั้น ภาพรวมมีผู้ใช้งานสะสมตั้งแต่เริ่มโครงการ โดยร้านค้าละเทียนแล้ว 67,904 ร้าน จำนวนผู้ใช้งาน 5,077,978 คน จำนวนการเข้าใช้งาน เช็กอิน 8,584,803 ครั้ง เช็กเอาท์ 6,359,921 ครั้ง และประเมินร้าน 3,984,691 ครั้ง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีคนเช็กอินแล้วลืมเช็กเอาท์อยู่มาก

สำหรับไทยชนะ ร้านค้าหรือกิจการต่างๆ ต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ โดยร้านค้าต้องมีการยืนยันกับกรมการปกครอง เพื่อยืนยันว่า ข้อมูลร้านค้าเป็นข้อมูลจริง ต่อมาตัวระบบจะให้ร้านค้าพิมพ์คิวอาโค้ดออกมา ติดที่หน้าร้าน ทั้งทางเข้า-ทางออก


ส่วนประชาชนใช้เพียงเบอร์โทรศัพท์ยืนยันตัวตนเมื่อสแกนคิวอาร์โค้ดครั้งแรกเท่านั้น เมื่อไปสแกนครั้งที่ 2 จะไม่ต้องกรอกเบอร์โทรศัพท์อีก โดยแอปฯ ที่ใช้ในการสแกนคิวอาร์โค้ดนั้น แนะนำใช้แอปฯ กล้องถ่ายรูปจะง่ายที่สุด เพราะโทรศัพท์ที่ใช้ปัจจุบันใช้ได้กว่า 99% ซึ่งโทรศัพท์ต่ำกว่าแอนดรอยด์ 5.0 เท่านั้นที่จะใช้ไม่ได้ เมื่อถ่ายเสร็จก็จะมีป็อปอัปเด้งขึ้นมา ให้ประชาชนแตะป็อปอัปไปที่หน้าเช็กอิน และเช็กเอาท์

ยืนยัน ไม่มีการเก็บข้อมูลใดๆ ข้อมูลทั้งหมดจะส่งไปที่กรมควบคุมโรค โดยข้อมูลเหล่านี้จะใช้เฉพาะกรณีที่พบผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 เท่านั้น


นพ.พลวรรธน์  ระบุว่า การใช้แอปฯ ไทยชนะ จะใช้ในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อไปห้างฯ ช่วง 12.00 น. แต่มีอีกคนไปห้างฯ 11.30 น. แล้วกลับก่อน ถ้าเป็นแบบเก่าที่ใช้เขียนข้อมูลอาจจะต้องเรียกคนที่ไปห้างฯ ช่วง 11.30 น. มาคัดกรองและตรวจ COVID-19 ด้วย เนื่องจากไม่มีตรวจสอบอย่างเป็นระบบ อีกทั้งหากไม่มีแอปฯ คนอาจจะต้องเขียนข้อมูลลงในกระดาษก่อน และผู้ประกอบการต้องเก็บข้อมูลที่เป็นกระดาษไว้ 60 วัน ซึ่งอาจไม่ใช่การเก็บข้อมูลแบบเป็นความลับ

ส่วนแอปฯ ไทยชนะที่ใช้เพียงเบอร์โทรนั้น การประมวลผลของแอปฯ ค่อนข้างซับซ้อน การจะหาว่าเบอร์โทรนี้ของใคร ต้องขออำนาจศาล ขอยืนยันว่า ระบบนี้คำนึงถึงความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัวที่สุด 

ขอประชาชนร่วมประเมิน วัดคะแนนลุ้นผ่อนปรนระยะต่อไป

นพ.พลวรรธน์ ย้ำว่า เมื่อเช็กอินสำเร็จแล้ว ขอให้ช่วยไปสแกนคิวอาร์โค้ดที่เป็นเช็กเอ้าท์ด้วย และขอความร่วมมือตอบแบบประเมินร้านค้า เพราะคะแนนการประเมินจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่า มาตรการผ่อนปรนในระยะต่อไปจะได้เปิดทำการหรือไม่


ทั้งนี้ ผลการประเมินขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 4.8 ทั่วประเทศ โดยสูงสุดอยู่ที่สถานเสริมความงามได้คะแนน 4.93 ซึ่งมีความสะอาดอยู่แล้ว

เรียกว่าได้ ขณะนี้สถานประกอบการได้คะแนนเกือบจะเต็ม ส่วนคะแนนที่เอามามีผลอย่างไร เมื่อไหร่ที่ท่านการ์ดตก คะแนนนี้จะโชว์อย่างแรก

ส่วนคะแนนที่ได้น้อยขณะนี้ คือ การทำความสะอาดพื้นผิว เพราะการบริการบางอย่างยังเลอะเทอะ เช่น ร้านตัดผม เมื่อตัดก็ต้องมีผมตกลงพื้น ในส่วนความสะอาดก็จะได้คะแนนไม่ดี แต่ร้านค้าก็ไม่ต้องเป็นห่วง ศบค.เข้าใจในส่วนนี้ และจะไม่มีการรายงานแบบไม่ได้ประมวลผล เพราะต้องมีการทำสถิติพอสมควร โดยสุ่มตัวอย่างที่น่าเชื่อถือก่อนเสมอ

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง