พายุไซโคลนอำพันถล่ม "อินเดีย-บังกลาเทศ" เสียชีวิตแล้ว 14 คน

ต่างประเทศ
21 พ.ค. 63
10:38
3,804
Logo Thai PBS
พายุไซโคลนอำพันถล่ม "อินเดีย-บังกลาเทศ" เสียชีวิตแล้ว 14 คน
พายุไซโคลนอำพันพัดถล่มบ้านเรือนนับพันหลังในอินเดียตะวันออกและบังกลาเทศเมื่อคืนวานนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 14 คน

วันนี้ (21 พ.ค.2563) สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า รัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียที่มีประชากรหนาแน่นได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนอำพันซึ่งพัดออกจากอ่าวเบงกอลด้วยลมกระโชกแรงสูงถึง 185 กม.ต่อชั่วโมง 

มามาทา บาเนอร์จี มุขมนตรีรัฐเบงกอลตะวันตก กล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 คน หลายพื้นที่ในรัฐเบงกอลได้รับความเสียหายจากพายุที่รุนแรงที่สุดสายหนึ่งที่พัดถล่มอินเดียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา


หลังพายุพัดถล่มบางพื้นที่ในรัฐเบงกอลมีปัญหาสัญญาณการสื่อสารหยุดชะงัก แม้ประชาชนกว่า 500,000 คน จะอพยพออกจากพื้นที่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของพายุไซโคลนอำพันที่อาจจะรุนแรงมากกว่านี้ ด้วยฝนที่ตกต่อเนื่อง ยิ่งเพิ่มอุปสรรคให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่ได้ยากมากยิ่งขึ้น 

เรากำลังเผชิญกับความเสียหายและการทำลายล้างที่รุนแรงกว่า COVID-19 หลังมีผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 แล้ว 250 คน ในรัฐเบงกอล

นอกจากนี้ ในเมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตกยังมีลมกระโชกแรงส่งผลให้รถยนต์ประชาชนคว่ำ ต้นไม้และเสาไฟฟ้าล้ม บางส่วนของเมืองถูกปกคลุมด้วยความมืด เจ้าหน้าที่ ระบุว่า บ้านเรือนนับพันหลังได้รับความเสียหายจากพายุที่พัดกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง

บังกลาเทศเสียชีวิตแล้ว 4 คน เจ้าหน้าที่ตัดไฟบางพื้นที่

ในบังกลาเทศที่อยู่ใกล้เคียงกับอินเดีย มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 คน แม้เจ้าหน้าที่ได้อพยพประชาชนประมาณ 2.4 ล้านคน ไปยังศูนย์พักพิงมากกว่า 15,000 แห่งในสัปดาห์นี้ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้มีการตัดไฟฟ้าในพื้นที่บางส่วนแล้ว

เจ้าหน้าที่ของบังกลาเทศ ยังกล่าวอีกว่า พวกเขาช่วยอพยพผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนออกจากเมียนมาซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากพายุในอ่าวเบงกอลเพื่อไปยังศูนย์พักพิง

ภาพ : AFP PHOTO / DISTRICT ADMINISTRATION OF BHOLA

ภาพ : AFP PHOTO / DISTRICT ADMINISTRATION OF BHOLA

ภาพ : AFP PHOTO / DISTRICT ADMINISTRATION OF BHOLA


เจ้าหน้าที่อาวุโสในกระทรวงเกษตรบังกลาเทศ ระบุว่า ประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับพืชยืนต้นที่อาจได้รับความเสียหาย แต่โชคดีที่การเก็บเกี่ยวข้าวได้เสร็จสิ้นลงแล้ว 

พายุไซโคลนมักถล่มส่วนหนึ่งของอินเดียตะวันออกและบังกลาเทศในช่วงเดือน เม.ย.และ ธ.ค.ส่งผลให้ประชาชนต้องอพยพบ่อยครั้งและทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง