เดินตาม "ไทยชนะ" ส่องวิถีห้าง New Normal

สังคม
21 พ.ค. 63
14:35
2,298
Logo Thai PBS
เดินตาม "ไทยชนะ" ส่องวิถีห้าง New Normal
ไทยพีบีเอสออนไลน์ ทดลองใช้ชีวิต New Normal ในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าในห้าง หลังเปิดผ่อนปรนระยะที่ 2 พบร้านค้าส่วนใหญ่ขานรับการลงทะเบียนผ่านแฟลตฟอร์มไทยชนะ ไม่กังวลละเมิดข้อมูล เพราะเชื่อว่าจะเพื่อติดตามสอบสวนโรค

ใครไปห้างสรรพสินค้ามาแล้วยกมือขึ้น เชื่อว่าตอนนี้การออกนอกบ้าน เพื่อไปห้างสรรพสินค้า เพื่อเดินเล่น ทำกิจกรรม ซื้อข้าวของ และกินอาหารแบบชิลๆ คงไม่ใช่แค่การขับรถแล้วเดินเข้าห้างเพื่อเดินทอดน่องเหมือนกับหลายเดือนก่อนที่ไวรัสโคโรนา COVID-19 จะเข้ามาระบาด

ครบ 5 วันหลังการผ่อนปรนกิจการ กิจกรรมระยะ 2 ซึ่งมีการกำหนดให้ห้างสรรพสินค้า ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร ต้องมีการลงทะเบียนผ่านแฟลตฟอร์ม www.ไทยชนะ.com เพื่อรองรับมาตรการป้องกันโรค COVID-19 และการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สำรวจห้างสรรพสินค้าย่านรังสิต จ.ปทุมธานี ภาพรวมพบว่าหากเทียบกับวันแรก (17 พ.ค.) ที่มีการให้เปิดห้างสรรพสินค้าได้ ช่วงแรกพบความขลุกขลักจากปริมาณคนที่มารอเข้าใช้บริการ เนื่อง จากต้องมีการให้สแกนคิวอาร์โคด ไทยชนะ ทุกคน จึงเกิดความแออัด และเกิดปัญหาคิวยาว เพราะเฉลี่ยบางคนต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 นาทีในการผ่านจุดคัดกรองก่อนเข้าใช้พื้นที่ แม้ทางห้างจะเตรียมเจ้าหน้าที่และจุดคัดกรองมากกว่า 10 แห่ง

ใช้สัญลักษณ์คุมพื้นที่จุดเสี่ยง

นอกจากนี้ทุกพื้นที่ของห้างที่อาจจะมีคนใช้จุดสัมผัสร่วม เช่น ทางเข้าลิฟท์ บันไดเลื่อน และพื้นที่นั่งพักคอย ก็จะมีการทำสัญ ลักษณ์ที่ชัดเจน เช่น พ่นสีบริเวณบันไดเลื่อนเว้นระยะ 1 ขั้น การติดป้ายให้ลูกค้าทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย และเดินเว้นระยะห่าง 2 เมตรเพื่อความปลอดภัย รวมทั้งการประชาสัมพันธ์แจ้งห้ามลูกค้าถอดหน้ากากอนามัยเพื่อดื่ม หรือเดินกินอาหารอย่างเด็ดขาด

 

ร้านค้า-ร้านอาหาร ขานรับคุมเข้มความแออัดคน

จากการสำรวจร้านค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายอาหารชื่อดัง มีการวางระบบ การจัดเก้าอี้เว้นระยะห่าง มีการทำสัญลักษณ์ที่ชัดเจน บางร้านมีการนำแผ่นกั้นขนาดความสูงเกือบ 1 เมตร แบ่งพื้นที่ของเก้าอี้นั่งทานในร้าน

นอกจากนี้ แต่ละร้านยังมีการติดป้ายประกาศหน้าร้าน เพื่อแจ้งกับลูกค้าที่จะมารับบริการ เช่น ร้านอาหารแห่งหนึ่งสามารถรองรับลูกค้าในร้านได้ไม่เกิน 14 คน ต้องสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยแอลกอฮอล์

 

ผู้จัดการร้านคำพูนสะออน ในห้างสรรพสินค้าย่านรังสิต บอกว่า ก่อนจะเปิดร้านต้องมีการเตรียมความพร้อมกับพนักงานทุกคนอย่างเข้มข้น ตามมาตรการด้านการป้องกันโรค COVID-19 โดยเฉพาะการตรวจคัดกรองผู้เข้ามารับบริการ การวัดอุณหภูมิร่างกาย และเรื่องสุขอนามัย ทุกอย่างภายในร้าน

ทางร้านจำกัดคนเข้าร้านได้แค่ 14 คน ให้นั่งได้แค่โต๊ะละ 1 คน หากมาเป็นครอบครัวก็ต้องแยกนั่งตามที่ร้านกำหนด ส่วนใหญ่ลูกค้าเข้าใจและรับเงื่อนไข

สำหรับแฟลตฟอร์มไทยชนะ ทางร้านได้นำมาใช้กับทางร้าน และไม่รู้สึกว่ามีความยุ่งยากอะไร เพราะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทางร้านต้องมีส่วนร่วมในการเพิ่มความระมัดระวังและเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันโรค หลังจากปิดร้านมาเกือบ 2 เดือน

อ่านข่าวเพิ่ม รู้จัก www.ไทยชนะ.com พร้อมรับ New Normal

ส่วนร้านขนมขบเคี้ยวชื่อดังในห้าง นำป้ายสแกนคิวอาร์โคดไว้หน้าร้าน พร้อมเขียนข้อความเว้นระยะห่าง 1 เมตร มีพนักงานคอยบอกกับผู้ใช้บริการทุกคนว่าให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทั้งการเช็กอิน-เช็กเอาท์ รวมทั้งต้องเดินทางเส้นเครื่องหมายทางเดินที่กำหนดไว้ กำหนดให้คนเดินเข้าและออกร้าน

 

แม้จะดูเหมือนยุ่งยากแต่ครอบครัวนี้ก็ยอมปฏิบัติตาม เธอบอกว่าเลือกที่จะเดินทางมาที่ห้างสรรพสินค้า เนื่องจากต้องทำธุระหลายอย่างทั้งเรื่องธุรกรรมการเงิน การซื้ออาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งดูของใช้สำหรับเด็ก เพราะหลังจากห้างปิดส่วนบริการไปเกือบ 2 เดือน ของใช้จำเป็นในบ้านหลายอย่างหมด 

ส่วนตัวไม่รู้สึกกังวลว่าจะเกิดความยุ่งยากกับขั้นตอนที่เกิดขึ้นที่ต้องเช็กอินหลายรอบ ไม่ห่วงว่าจะนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ แต่มองว่าจะมีประโยชน์มากกว่า หากโรค หากเกิดโชคร้ายมีการติดเชื้อขึ้น จะช่วยให้ถูกตามตัวได้ง่ายขึ้น ดีกว่าไม่รู้อะไรเลย 

ไทยชนะไม่ล้วงข้อมูล-เก็บ 60 วันรอสอบสวนโรค

ทั้งนี้นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงว่า มาตรการในการรองรับกิจกรรมที่จะผ่อนปรนระยะที่ 2 ครบ 5 วันนับตั้งแต่วันที 17-21 พ.ค.นี้ ผู้ประกอบการร้านค้ามีการลงทะเบียนเว็บไซต์ http://www.ไทยชนะ.com รวมสะสม 73,295 ร้านค้า ขณะที่ผู้ใช้งานมีจำนวน 6,333,746 ล้านคน เช็กอิน 11,570,610 ล้านคน เช็กเอาท์ 8,652,113 ล้านคน ประเมินร้าน 5,200,209 ล้านคน

การประเมินร้านค้า ส่วนใหญ่ให้อยู่ในระดับ 5 คะแนน มีการตรวจ 21,697 ร้านค้า พบปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามมาตรการ 31 แห่ง เช่น การเว้นระยะห่าง

 

ก่อนหน้านี้นพ.ทวีศิลป์ ชี้แจงสื่อมวลชน หลังถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าจะถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ รวมทั้งทำไมต้องสแกนคิวร์อาโค้ดหลายครั้ง ทั้งจากห้างสรรพสินค้า และในร้านค้า โดยยืนยันว่าจำเป็นต้องเก็บข้อมูล 60 วัน เพราะจากชุดข้อมูลของกรมควบคุมโรค เคยมีการตรวจสอบกรณีการติดเชื้อในสนามมวย มีการติดจากรุ่นที่ 1 ไปรุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 รุ่นที่ 4 แต่ละรุ่นห่างกัน 14 วัน รวมประมาณ 2 เดือน

ดังนั้นหากมีคนหนึ่งคนติดเชื้อ และให้ประวัติว่าไปห้างสรรพสินค้าแห่งนั้น ก็อาจต้องนำคนนับหมื่นคนมาตรวจคัดกรอง แต่เมื่อมีการสแกนคิวอาร์โค้ด แล้วทำให้สอบสวนกลับไปได้ว่าคนที่ติดเชื้อไปเพียง 1-2 ร้าน ก็จะช่วยลดคนที่จะเข้าตรวจคัดกรองอาจเหลือเพียงหลักร้อย หรือสิบคนเท่านั้น คนอื่นๆ ก็จะได้ใช้ชีวิตต่อไปได้ปกติ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศบค.ผุด "ไทยชนะ" เช็กอินคนใช้พื้นที่-คุมสอบสวนโรค

ศบค.แถลงไทยพบผู้ติดเชื้อ 3 คน ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

รอลุ้น! วัคซีน COVID-19 ฝีมือไทยได้ใช้ปี 64 เตรียมทดลองในลิง

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง