สธ.ไม่พบเชื้อก่อ COVID-19 ในผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่

สังคม
22 พ.ค. 63
18:41
461
Logo Thai PBS
สธ.ไม่พบเชื้อก่อ COVID-19 ในผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ พร้อมร่วมมือกับกองระบาดวิทยาและโรงพยาบาลเครือข่าย 20 แห่งทั่วประเทศ ตรวจตัวอย่างพบผลทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19

วันนี้ (22 พ.ค.2563) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข มีนโยบายปกป้องสุขภาพของประชาชนและบุคลากร ทางการแพทย์ไม่ให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝนอาจจะมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ และไม่ต้องการให้มีการระบาดทั้งโควิดและไข้หวัดใหญ่ โดยการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้กับประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงและบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. - 31 ส.ค.2563

ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข


ทั้งนี้ ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ผู้ที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 และไข้หวัดใหญ่ มักมีอาการผิดปกติในระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน เช่น มีไข้ ไอ น้ำมูกไหล แม้ว่าจะมีอาการเหมือนกันหลายอย่าง แต่เกิดจากเชื้อไวรัสต่างสายพันธุ์กัน

เนื่องจากความคล้ายคลึงกันดังกล่าว จึงยากที่จะระบุโรคได้โดยดูตามอาการเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าติดโรค COVID-19 หรือไม่

ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ โดยความร่วมมือกับกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และโรงพยาบาลเครือข่าย 20 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. - 17 พ.ค.ที่ผ่านมา จำนวน 889 ตัวอย่าง จำแนกเป็นรายภาคดังนี้ ภาคกลาง 363 ตัวอย่าง ภาคเหนือ 92 ตัวอย่าง ภาคใต้ 150 ตัวอย่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 284 ตัวอย่าง ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 ในกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว

ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข


นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ (Thai National Influenza Center) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นห้องปฏิบัติการเครือข่ายเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 และยังเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขององค์การอนามัยโลกด้านไข้หวัดใหญ่ โดยมีบทบาทและหน้าที่ในการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของตัวเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และส่งตัวอย่างเชื้อที่มีความผิดปกติ หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมส่งไปยังองค์การอนามัยโลกอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาติดตามการแพร่ระบาดและการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ทำให้ได้ข้อมูลอุบัติการณ์ของตัวเชื้อตามฤดูกาล และการกระจายของตัวเชื้อตามลักษณะภูมิอากาศของแต่ละภาค ศึกษาและเฝ้าระวังการดื้อยา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมป้องกันโรค และการบริหารวัคซีนของประเทศให้เหมาะสม กับคนไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง