"วิษณุ" ระบุ ศบค.เสนอลดเคอร์ฟิว ส่วน รร.ไหนพร้อมเปิดเรียนได้

การเมือง
23 พ.ค. 63
09:28
1,475
Logo Thai PBS
"วิษณุ" ระบุ ศบค.เสนอลดเคอร์ฟิว ส่วน รร.ไหนพร้อมเปิดเรียนได้
รองนายกรัฐมนตรีระบุ สมช.จะสรุปว่า จะปรับลดเวลาเคอร์ฟิวเป็น 00.00-04.00 น. หรือไม่ โดยให้ ศบค.ชุดเล็ก วางมาตรการผ่อนปรนระยะ 3 ส่วน ครม.อังคารนี้ ถก ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน

วันนี้ (23 พ.ค.2563) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. มอบหมายให้ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ไปพิจารณา ความเป็นไปได้ที่จะลดเวลาเคอร์ฟิวเป็น 00.00-04.00 น. ว่า

มีการนำเสนอขึ้นมาในที่ประชุม แต่ยังไม่ใช่มติแต่อย่างใด ซึ่งเป็นไปได้ที่อาจจะนำไปสู่การพิจารณาผ่อนคลายในระยะที่ 3 แต่ก็ต้องเข้าใจก่อนว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปหรือไม่นั้น เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าไม่ใช้ต่อ เรื่องเคอร์ฟิวก็ไม่ต้องพูดถึง

ถ้าหากประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อ การนำเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ในสัปดาห์หน้า ก็ไม่จำเป็นว่า เมื่อประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว จะต้องบังคับใช้มาตรการทุกอย่าง ทั้งนี้การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นไปตามมาตรา 5 แต่ผลของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นไปตามมาตรา 9 ซึ่งมีอยู่ 7-8 ข้อ

นายวิษณุระบุว่า ดังนั้นจะเลือกใช้บางข้อก็ได้ เหมือนที่ผ่านมาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามมาตรา 5 และประกาศใช้มาตรา 9 เกือบทุกข้อ ซึ่งข้อแรกคือเรื่องเคอร์ฟิว

 

ดังนั้นถ้าต่อไปเราประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาจจะเลือกบังคับใช้ตามมาตรา 9 เพียงบางข้อก็ได้ เช่น เคอร์ฟิวไม่มีก็ได้ หรือจะลดเวลาเคอร์ฟิวให้สั้นลงก็ได้ หรือเวลานี้ห้ามชุมนุม ต่อไปอาจจะไม่ห้ามก็ได้ ซึ่งนี่คือตัวอย่าง ที่ยกให้ฟังเพื่อให้เห็นว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับการบังคับใช้มาตรการใดบ้างเป็นคนละส่วนกัน แต่ถ้าไม่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ใช้ข้อไหนไม่ได้เลย

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีแสดงความพอใจในภาพรวม แล้วบอกต่อที่ประชุม ศบค.อย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า สถิติดูดีขึ้น ถ้าดูตัวเลขของสถิติ แต่ทางการแพทย์ยืนยันว่า ที่สถิติดีขึ้นนั้นเป็นผลจากการควบคุม แต่ถ้าเราไม่ควบคุม สถิติก็อาจจะแย่ลงก็ได้ ดังนั้นขอให้ตรึงไว้สักระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงตามลำดับ

 

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนเรื่องโรงเรียน ที่ได้ประกาศปิดโรงเรียนและให้เรียนออนไลน์ และเลื่อนเปิดภาคเรียนนั้น เป็นคนละเรื่องกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นมติ ครม. ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม

ซึ่งเรื่องการเปิดเรียนนั้นนายกรัฐมนตรีได้กำชับในที่ประชุม ศบค. ว่า ขอให้ใช้คำว่าระบบเรียนทางไกล ไม่ควรใช้คำว่าเรียนออนไลน์ เพราะการเรียนทางไกล อาจจะใช้ระบบทางโทรศัพท์ และยังสามารถเรียนผ่านโทรทัศน์ หรือดาวเทียม ก็มีหลายวิธี เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เขาก็สอนทางไกลกันมาอยู่แล้ว ตั้งแต่ยังไม่มี COVID-19 ก็เป็นการเรียนทางไกลโดยซื้อตำรามาอ่านเรียนเองที่บ้าน

นายกรัฐมนตรีระบุว่า การเรียนทางไกล ไม่ได้แปลว่า จะต้องทำตลอดไป ไม่ต้องทำทุกวิชา และไม่ได้ต้องทำกับเด็กทุกคน ระดับอนุบาลอาจจะอย่างหนึ่ง ระดับประถมอีกอย่างหนึ่ง และอาจจะเลือกเรียนเป็นบางวิชา เพื่อลดความเสี่ยง ลดความแออัด เพื่อให้เหลือน้อยชั่วโมง

 

ตอนนี้โรงเรียนที่ขอเปิดก่อน อาทิ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนจุฬาภรณ์ ที่จะขอเปิดก่อนในเดือนมิถุนายนนี้ หรือถ้าโรงเรียนไหนมีการเตรียมความพร้อม อย่างเป็นระบบ โดยผ่านการประเมินจากกระทรวงสาธารณสุข

นายวิษณุกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 26 พ.ค. เลขาธิการ สมช. จะรายงานในนาม ศบค. เพื่อขอต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และต่อหรือไม่ต่อเคอร์ฟิวเท่านั้น ส่วนมาตรการผ่อนคลายอื่นๆ ไม่เคยเข้าครม. จะมีการเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของ ผอ.ศบค.

ดังนั้นสมช. จะประชุมในคณะย่อยในวันที่ 27 พ.ค. ก่อนที่จะเสนอเข้าที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ ในวันที่ 29 พ.ค. เพื่อที่จะมีผลในวันอาทิตย์หรือวันจันทร์ถัดไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง