"วิโรจน์" ชี้รัฐบาลเน้นเยียวยานายทุนมากกว่าประชาชน

การเมือง
27 พ.ค. 63
14:31
328
Logo Thai PBS
"วิโรจน์" ชี้รัฐบาลเน้นเยียวยานายทุนมากกว่าประชาชน
โฆษกพรรคก้าวไกล อภิปรายรัฐบาลให้ความสำคัญในการเยียวยา COVID-19 ให้กับนายทุนมากกว่าประชาชน แต่ยอมรับเห็นด้วยกับการกู้เงินครั้งนี้ พร้อมระบุอาจมีคนว่างงานสูงถึง 7 ล้านคน จากวิกฤตการณ์ครั้งนี้

วันนี้ (27 พ.ค.2563) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เพื่อพิจารณากฎหมายว่าด้วยการเงิน 4 ฉบับ รวมวงเงิน 1.98 ล้านล้านบาท กำหนดประชุมตั้งแต่ 27-31 พ.ค.นี้ ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทยลุกลาม เนื่องจากรัฐบาลประเมินสถานการณ์ต่ำและปล่อยปละละเลย ซึ่งเริ่มจากปล่อยให้มีระบาดที่สนามมวยลุมพินี จนควบคุมไม่ได้จนต้องออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาควบคุมการแพร่ระบาด

ส่วนการเยียวยาประชาชนทำได้ล่าช้า แต่กลับให้ความสำคัญในการเยียวยานายทุนก่อน ซึ่งคณะกรรมการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) หรือบอร์ด AOT ออกมาตรการเยียวยาเอกชน ด้วยการลดค่าเช่าให้ผู้ประกอบการสนามบิน เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2563 ซึ่งมีผลไปจนถึงวันที่ 31 มี.ค.2565 ทั้งที่ในช่วงดังกล่าวสถานการณ์ COVID-19 ยังไม่ลุกลาม

ทั้งนี้ มาตรการเยียวยาดังกล่าว ส่งผลให้หุ้น AOT ราคาลดลงจาก 67.75 บาท เหลือ 64.50 บาท ซึ่งกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ร้อยละ 70 ได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่าตลาดทันที 32,500 ล้านบาท รวมทั้งยังส่งผลให้กำไรของ AOT ในช่วง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2565 ลดลง 22,536 ล้านบาทด้วย

ขณะที่การเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เพิ่งออกมาให้เงินช่วยเหลือเยียวยาในระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 และยังมีปัญหาประชาชนไม่ได้รับเงินเยียวยาครบทุกคน และปัญหาการตรวจสอบสิทธิ์ กลับปรากฏว่าเมื่อวันที่ 23 เม.ย.2563 มีการออกมาตรการเยียวยาเอกชน รอบ 2 ออกมาแล้ว ด้วยการงดเว้นเงื่อนไขค่าเช่าที่เพิ่งประมูลไป โดยให้นำเงื่อนไขของปี 2562 มาใช้แทน

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 กระทบเป็นวงกว้าง ทำให้ประเทศไทยที่มีการพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่จากการส่งออกและท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเห็นด้วยกับการกู้เงินในครั้งนี้ แต่ต้องให้ความสำคัญกับวิธีคิดในการใช้เงิน และการบริหารจัดการ ต้องทำด้วยความรอบคอบ ซึ่งมีการประเมินว่าวิกฤตการณ์ COVID-19 จะทำให้มีคนว่างงาน 7 ล้านคน และไม่รู้ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อนานแค่ไหน

ขณะเดียวกัน ยังมีนักศึกษาจบใหม่อีกปีละ 700,000 คน รัฐบาลเตรียมการรับมือหรือยัง และจะต้องยกระดับความสามารถด้านสาธารณสุข เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน พร้อมแนะนำให้รัฐบาลต้องล็อกดาวน์ สลับกับการผ่อนคลายไปเรื่อยๆ มีการผ่อนปรนให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ โดยคาดว่าการระบาดครั้งต่อไปจะไม่รุนแรง และลดถอยลงเรื่อยๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง