สธ.อนุญาตนวดเพื่อรักษา แต่ยังห้ามนวดหน้า-อบสมุนไพร

สังคม
27 พ.ค. 63
17:10
1,957
Logo Thai PBS
สธ.อนุญาตนวดเพื่อรักษา แต่ยังห้ามนวดหน้า-อบสมุนไพร
สธ.เผยการแพทย์แผนไทยวิถีใหม่ ในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ อนุญาตจ่ายยาสมุนไพร นวดรักษา ประคบสมุนไพร แต่ยังห้ามนวดหน้า อบไอน้ำสมุนไพร ผู้เข้ารับบริการต้องจองคิวล่วงหน้า สวมหน้ากากตลอด และต้องบันทึกการเข้าใช้บริการทุกครั้ง

วันนี้ (27 พ.ค.) นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการจัดบริการการแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ว่า บริการการแพทย์แผนไทย มีกิจกรรมหลัก คือ การตรวจวินิจฉัยโรค การสั่งจ่ายยาสมุนไพร การทำหัตถการ คือ การนวดไทย การประคบสมุนไพร การอบสมุนไพร และการทับหม้อเกลือ สำหรับการผ่อนคลายที่จะเกิดขึ้น การบริการการแพทย์แผนไทยจะระงับการให้บริการอบสมุนไพรไปก่อน จะให้บริการเฉพาะสั่งจ่ายยา การนวด การประคบ และการทับหม้อเกลือในหญิงคลอดบุตร

การบริการแพทย์แผนไทยมีในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ซึ่งมีประมาณ 1,000 แห่งทั่วประเทศ ส่วนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) จะให้บริการยาสมุนไพรประมาณ 10,000 แห่งทั่วประเทศ แต่ที่จะให้บริการการนวดไทยได้ประมาณ 4,000 แห่ง

สำหรับการให้บริการจะมีแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์ ซึ่งจะตรวจวินิจฉัยและสั่งการรักษา ตรวจวินิจฉัยและสั่งการรักษา โดยจะมีผู้ช่วยแพทย์แผนไทย เป็นผู้ทำหัตถการซึ่งเป็นไปเพื่อการบำบัดรักษาเท่านั้น ส่วนการบริการต้องเตรียมความพร้อม 3 ส่วน คือ หน่วยบริการ ผู้ให้บริการ และผู้รับบริการ

 

สำหรับการเตรียมความพร้อมของสถานบริการกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้วางแนวทางการให้บริการไว้ เช่น เช่น มีจุดคัดกรอง วัดอุณหภูมิ แอลกอฮอลล์ 70% หรือเจลแอลกอฮล์ 70% สำหรับทำความสะอาดมือ คัดกรองและวัดอุณหภูมิผู้ปฏิบัติงานทุกคนวันละ 2 เวลา เช้า-บ่าย ก่อนปฏิบัติงาน เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร วัดอุณหภูมิผู้มารับบริการ/ผู้ให้บริการทุกคน หากมีไข้เกิน 37.3 องศาเซลเซียส และเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น สัมผัสผู้ติดเชื้อ การเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงหรือมีโรคประจำตัว ให้ส่งต่อรับการดูแลทางการแพทย์แผนปัจจุบันทันที

 

ประชาชนที่เข้ารับบริการต้องจองล่วงหน้าก่อนเข้ารับบริการผ่านระบบ ออนไลน์ โทรศัพท์ แอปพลิเคชัน หรือในกรณีไม่ได้นัดหมายล่วงหน้า ให้จัดสถานที่สำหรับผู้รับบริการกรอกข้อมูลโดยการเว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 1-2 เมตร และมีที่กั้นระหว่างบุคคล บันทึกรายชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ วันที่และเวลาของผู้มารับบริการทุกคน เพื่อให้สามารถติดตามตัวได้ในกรณีที่ต้องสอบสวนโรค บันทึกรายชื่อผู้ให้บริการ และกิจกรรมที่ให้บริการกับผู้รับบริการทุกคน มีระบบติดตามผู้รับบริการทุกคนหลังรับบริการอย่างน้อย 14 วัน มีสื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้เรื่องโรคติดต่อ

กิจกรรมบริการที่สามารถดำเนินการได้ เช่น การตรวจวินิจฉัย การจ่ายยาสมุนไพร การนวดไทยเพื่อการรักษา การประคบสมุนไพรเพื่อการรักษาและการดูแลมารดาหลังคลอด ระยะเวลาในการให้บริการไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อครั้ง ทั้งนี้งดกิจกรรมการอบไอน้ำสมุนไพร งดนวดบริเวณศีรษะและใบหน้า

 

สำหรับสถานบริการจัดให้มีหน้ากากอนามัย อุปกรณ์ป้องกันใบหน้า (Face Shield) และถุงมือ ลูกประคบสมุนไพรให้ใช้เฉพาะเป็นรายบุคคล และนึ่งลูกประคบสมุนไพรไม่น้อยกว่า 30 นาที ก่อนนำไปประคบผ้ารองลูกประคบจะต้องผ่านการฆ่าเชื้อทุกผืน จัดให้มีเสื้อผ้าสำหรับเปลี่ยนของผู้มารับบริการ โดยอยู่ในถุงที่แยกแต่ละชุดและผ่านการอบฆ่าเชื้อทุกตัวในส่วนอุปกรณ์ที่มีการสัมผัสบ่อย ให้ทำความสะอาดอุปกรณ์ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือแอลกอฮอล์ 70%

ที่สำคัญต้องทำความสะอาด เตียงนวด/ประคบ หมอน เบาะยาง และเปลี่ยนผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าขวางเตียง ก่อนและหลังให้บริการทุกครั้ง

รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ผู้รับบริการทุกท่านต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่รับบริการที่สำคัญต้องไม่ปิดบังข้อมูลส่วนตัว เช่น โรคประจำตัว การเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง การสัมผัสใกล้ชิดบุคคลในครอบครัวที่มีการติดเชื้อและหากพบว่าตนเองมีไข้ หรืออาการป่วยทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบมีอาการเข้าข่ายติดเชื้อโรค COVID-19 หลังเข้ารับบริการในช่วง 14 วัน ต้องแจ้งสถานบริการสาธารณสุขในพื้นที่ และพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของโรค COVID-19 ต่อไป

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง