ศึกวันดวลหมอ! “หมอเอก-หมอหนู” เห็นพ้องทุ่มเงินกับ “วัคซีน”

Logo Thai PBS
ศึกวันดวลหมอ! “หมอเอก-หมอหนู” เห็นพ้องทุ่มเงินกับ “วัคซีน”
ถก พ.ร.ก.เงินกู้ วันที่ 2 ส.ส.สายเสื้อกาวน์ งัดข้อมูลชำแหละ "เงินกู้" ใช้ด้านสาธารณสุขน้อยเกินไป โดยเฉพาะการพัฒนา "วัคซีน" แต่เห็นร่วมกันว่าวัคซีนคือทางหยุดโควิด-19 ตามที่ "อนุทิน" อ้างเป็นหมัดน็อก และฝ่ายค้านเห็นเป็น "ทางชนะ"

วันนี้ (28 พ.ค.63) วันที่ 2 ของการถก พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท

แง่มุมการอภิปรายยังเป็นแบบ “มัดรวม” เงิน 3 ก้อน คือก้อนที่กระทรวงการคลังกู้ยืม และอีก 2 ก้อน ที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำเงินออกมาใช้

ที่น่าสนใจ คือ การงัดข้อมูลถกเถียงเรื่องการใช้ “เงิน” ไปกับ ด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการใช้ “เงิน” พุ่งตรงไปยัง การยับยั้งการระบาดโควิด-19

เงินส่วนนี้ จัดอยู่ใน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

แม้จะมี “วาทกรรม” ที่ใช้โต้ตอบเชือดเฉือนอยู่บ้าง แต่ก็เห็นทางร่วม-ทางออก นั่นคือการใช้เงินไปกับ “วัคซีน”

4.5 หมื่นล้าน น้อยไปที่จะใช้พัฒนา “วัคซีน”

ช่วงหนึ่ง นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล ท้วงติงการตั้ง “เงิน” ที่จะใช้กับด้านสารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

เป็นเพียง 4.5% ของเงินกู้กรอบใหญ่

ซึ่ง 4.5 หมื่นล้านบาท เขียนวัตถุประสงค์ไว้ใช้ 5 ส่วน อาทิ ค่าตอบแทน ค่าเสี่ยงภัย ภัยวัคซีน ฯลฯ

นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล

นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล

นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล

ที่ว่าน้อยไปเพราะ...

นพ.เอกภพ อ้างว่า ทั่วโลกเห็น “ทางชนะ” โควิด-19 อยู่ 2 ทาง

1.การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ คือ มีคนติดเชื้อ 60%-70% แต่ปล่อยให้ติดเชื้อทีเดียวไม่ได้ เพราะแพทย์จะรับไม่ไหว จึงต้องปล่อยให้ “ซึม” หรือค่อยๆ ติด

2.การใช้ “วัคซีน” ซึ่งคาดว่าจะต้องรออีกไม่ต่ำ 1 ปี ซึ่งคาดว่าจะมีต้นทุนอยูที่เข็มละ 300-1,000 บาท

ดังนั้นหากจะใช้วัคซีนหยุดระบาด โดยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ 60-70% จึงต้องใช้เงิน 6.7 หมื่นล้านบาท

นพ.เอกภพ ในนามพรรคก้าวไกล จึงเสนอเพิ่มงบฯ ด้านสาธารณสุข เป็น “1 แสนล้านบาท” สำหรับใช้พัฒนา “วัคซีน” 6 หมื่นล้านบาท และสนับสนุนบุคลากรการแพทย์ 4 หมื่นล้าน รวมแล้วเท่ากับ 1 แสนล้านบาท

ระหว่างที่รอ “ทางชนะ” นี้ รัฐบาลจะต้องช่วยประคับประคอง ไม่ให้คนที่รอดจากโควิด-19 ถูกพิษเศรษฐกิจเล่นงานเสียก่อน

น็อกโควิด-19 ต่อเมื่อมีวัคซีน

ข้อเสนอนี้ ไม่ต่างจากมุมมองของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ที่เห็นว่าไทยจะชนะโควิด-19 ก็ต่อเมื่อมีวัคซีน

ดังการเปรียบเทียบว่าไทยกำลังชกอยู่กับศัตรูที่ชื่อ โควิด-19 โดย นายอนุทิน ย้ำว่า ไทยไม่ได้การ์ดตก ซึ่งชกกันตอนนี้คะแนนเรานำ แต่น็อกได้ก็ต่อเมื่อมี “วัคซีน” ซึ่งรัฐบาลใช้งบฯ 4.5 หมื่นล้านบาท สนับสนุนให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติพัฒนาสิ่งนี้

ประเทศไทยเหลืออย่างเดียวที่จะเป็นแชมป์ด้านสาธารณสุขของโลก คือต้องคิดค้นวัคซีนให้ได้

วัคซีนถึงไหน แล้วไทยล่ะ ?

เมื่อทุกคนต่างหวังกับวัคซีน คำถามที่ตามมาคือการ “คิดค้น” วัคซีนไปถึงไหนแล้ว

คำตอบคือ ขณะนี้มีหลายประเทศและปลายบริษัทยาเร่งผลิตวัคซีน กว่า 100 ชนิด แตกต่างกันอยู่ที่ขั้นตอน ทั้งทดลองในแล็บ ทดลองในสัตว์ และทดลองในคน

กลุ่มที่ออกมาคาดการณ์ว่าผลิตได้เร็วสุด คือ กลุ่มบริษัทยา คาดว่าใช้เวลาน้อยสุด อย่างต่ำ 9 เดือน อย่างช้า 2 ปี

ขณะที่ แอนโธนี เฟาซี ผอ.สถาบันโรคติดต่อฯ ของสหรัฐฯ คาดใช้เวลา 18 เดือน

 

อธิบายอย่างย่นย่อ สำหรับกลุ่มที่ก้าวหน้าและเริ่มทดลองใน “คน”  มีขั้นตอนการทดลองแบ่งเป็น 3 ระยะ

1.ทดลองกับ “อาสาสมัคร” ด้วยสูตรที่ต่างการ เพื่อหาสูตรดีที่สุด
2.เมื่อได้สูตรที่เหมาะ จะทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง “หลักร้อย” แตกต่างตัวแปรปัจจัย
3.ทดลองกับคน “หลักพัน” เริ่มกับกลุ่มเสี่ยง

ขณะนี้มีหลายประเทศเริ่มทดลองใน “คน” แล้ว อาทิ กลุ่มที่ยื่นทดลองในคนเร็วสุด คือ บริษัทยาแห่งหนึ่ง ร่วมกับ สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ ขอขยับทดลองกับคนในระยะที่ 2-3 เริ่มเดือน ต.ค.

ระหว่างนี้มีบริษัทในจีน 4 แห่ง ยื่นทดลองวัคซีน 4 ชนิด ผ่านระยะที่ 1 แล้ว และกำลังขอทดลองในระยะต่อไป ซึ่งทางการจีน คาดว่าจะเริ่มใช้แบบ “ฉุกเฉิน” ในเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นปีหน้าจึงจะใช้อย่างเป็นทางการ

สำหรับ “ไทย” แบ่งความคืบหน้าเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ เร่งหาพาร์ทเนอร์ เพื่อเข้าถึงวัคซีนที่ได้รับการพัฒนา

นายอนุทิน พูดถึงกรณีนี้อย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรก 7 พ.ค. ระบุว่า ไทย โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ลงนามในเอ็มโอยูกับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจีน ซึ่งเป็นเอ็มโอยูที่จะไม่เสียเปรียบ และล่าสุด คือ 27 พ.ค. ภายหลังพบตัวแทน WHO ระบุว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กำลังเร่งหาพาร์ทเนอร์ผลิตวัคซีน

 

ส่วนที่ 2 คือ การพัฒนาวัคซีนโดยไทยนำโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกับสถาบันชั้นนำ เป็นตัวแกนหลักในการคิดค้น เช่น คณณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ,คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล , คณะเภสัช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , ไบโอเทค สวทช. ,บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด เป็นต้น

ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้อง เห็นตรงกันว่า เหตุที่ไทยต้องเร่งผลิตเอง ไม่อาจรอซื้อจากต่างชาติ เพราะมีคน “รอคิว” เป็นจำนวนมาก อาจทำให้การใช้วัคซีนของไทยไม่ทันกับสถานการณ์

อ่านเพิ่ม รอลุ้นปี 64 เหตุผลไทยไม่รอซื้อวัคซีน COVID-19

เส้นทางที่จะได้ “วัคซีน” ที่ผลิตได้จำนวนมากและใช้ได้กับคนจริงๆ ต้องรอนานนับปี

ระหว่างนี้คือมาตรการประคับประคองให้โรคไม่ระบาดซ้ำ และคนใช้อยู่ในระบบเศรษฐกิจที่พอเลี้ยงปากท้องได้

อย่างน้อยที่สุด สภาฯ ที่มี ฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล มีหมุดหมาย ร่วมกันคือ “วัคซีน”

และอย่างน้อยจึงเป็นการเปิดทางที่ คนปฏิบัติ-คนใช้เงิน มีหมุดหมายเดียวกับ คนตรวจสอบ

ระหว่างทางมีความเห็นต่าง แต่ปลายทางคือการหยุดโรคระบาดนี้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีฝ่ายค้านจับตาตรวจสอบการใช้เงินไปกับ “วัคซีน”

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง