"สาทิตย์" หนุนตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ติดตามเงินกู้ หวั่นจังหวัดฮั้วผู้รับเหมา

การเมือง
29 พ.ค. 63
10:54
185
Logo Thai PBS
"สาทิตย์" หนุนตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ติดตามเงินกู้ หวั่นจังหวัดฮั้วผู้รับเหมา
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ชี้วิกฤตโควิด-19 แตกต่างจากวิกฤต 2 ครั้งที่ไทยต้องกู้เงิน ซึ่งมีสาเหตุมาจากวิกฤตภาคการเงิน พร้อมสนับสนุนตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ติดตามการใช้เงิน เนื่องจากเกรงว่าจังหวัดจะฮั้วกับผู้รับเหมา


วันนี้ (29 พ.ค.2563) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) เพื่อพิจารณากฎหมายว่าด้วยการเงิน 4 ฉบับ รวมวงเงิน 1.98 ล้านล้านบาทว่า การออก พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งเป็นวาระที่มีความสำคัญมาก เนื่องจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ทั้ง 3 ฉบับ มาจากสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น และยังส่งผลกระทบต่อชีวิต วิถีชีวิตของประชาชนทุกคน และยังเกี่ยวพันถึงหนี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งลูกหลานจะต้องมาแบกรับภาระที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย

ที่ผ่านมา วิกฤตที่ประเทศไทยต้องกู้เงิน 2 ครั้งที่ผ่านมา คือวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี 2540 และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551-2552 ทั้ง 2 วิกฤตเป็นวิกฤตภาคการเงิน และส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินและต่อเนื่องกับองค์กรทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงิน หรือผู้ที่ทำงานกับภาคการเงินเป็นหลัก ผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงกับประชาชนทั่วไปที่หาเช้ากินค่ำ หรือแม้กระทั่งภาคเกษตร ซึ่งภาคเกษตรเองกลับได้รับประโยชน์ด้วยซ้ำ เมื่อวิกฤต ทำให้ค่าเงินต่ำลง โอกาสที่ส่งภาคเกษตรออกไปและราคาดีขึ้นเกิดขึ้นด้วย

ส่วนวิกฤตครั้งนี้เปลี่ยนโจทย์ กลายเป็นวิกฤตของโรคระบาดที่เกิดขึ้นแล้ว ฉับพลันทันทีรุนแรง ซึ่งรัฐบาลที่บริหารประเทศจึงตัดสินใจในภาวะวิกฤต และมาตรการระยะต้นเป็นเรื่องที่จำเป็นและทำถูกต้องแล้ว การล็อกดาวน์พื้นที่ การให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละพื้นที่ดูให้สัมพันธ์กับตัวเลขผู้ติดเชื้อ และให้อำนาจกำหนดมาตรการภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ผลกระทบหนึ่งที่เกิดขึ้นและสำคัญมากและจะเกี่ยวพันถึงความมีประสิทธิภาพหรือไม่ของ พ.ร.ก.นี้ คือผลกระทบจากมาตรการเหลานั้น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดลงโดยสิ้นเชิง

นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า เมื่อมาตรการเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วไประยะเวลาหนึ่ง จะต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณทั้งหลาย เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นกับคนหาเช้ากินค่ำ มนุษย์เงินเดือน และภาคธุรกิจ การใช้ พ.ร.ก.กู้เงิน มาดำเนินการจึงต้องเกิดขึ้น แม้ว่าทั้ง 3 ฉบับจะไม่ได้กู้เงินทั้งหมด บางฉบับใช้สภาพคล่อง แต่ความเป็นจริงมีการเขียนไว้ว่าถ้าเกิดความเสียหาย กระทรวงการคลังจะต้องชดใช้ความเสียหาย ซึ่งการที่จะทำให้ พ.ร.ก.กู้เงิน มีประสิทธิภาพ จะต้องสัมพันธ์กับการผ่อนคลายมาตรการ และ พ.ร.ก.กู้เงิน 400,000 ล้านบาท จำเป็นต้องให้เกิดผลทันที เพราะตัว พ.ร.ก.นอกเหนือจากเยียวยาและสาธารณสุขแล้ว ใน พ.ร.ก.กู้เงิน 400,000 ล้านบาท ต้องให้เกิดผลทันที

สำหรับตัวชี้วัด พ.ร.ก.กู้เงิน คือโครงการ ซึ่งมีข้อสังเกตว่าไม่มีการเขียนไว้ว่าวงเงินเป็นเท่าไหร่ในแต่ละกรอบที่มีการเขียนขึ้น เมื่อไม่มีกรอบแปลว่ากว้าง สะท้อนให้เห็นว่าวิธีการคิดเตรียมการไว้หรือไม่ ซึ่งมีการให้จังหวัดเสนอมา แต่เมื่อให้จังหวัดเสนอมา อย่าให้เป็นประเภทจังหวัดฮั้วกับผู้รับเหมา หรือนำโครงการเก่ามาปัดฝุ่น เขียนให้เข้าเงื่อนไข ยิ่งด่วนอย่างนี้ทำง่าย จำนวนเงิน 400,000 ล้านบาท หารด้วยจำนวน 77 จังหวัด จะอยู่ตกอยู่ที่จังหวัดละประมาณ 5,000 ล้านบาท มหาศาลกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปี

ทั้งนี้ มีข้อเสนอว่าเมื่อทำอย่างไรไม่ให้มีลักษณะการฮั้วกับผู้รับเหมาและทุกโครงการต้องทำให้เกิดรายได้อย่างแท้จริงในอนาคต และจึงควรมีกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งมีการเรียกร้องว่าไม่ควรมีข้าราชการ ควรเอาภาคประชาสังคมที่ทำเรื่องปราบปรามการทำทุจริตมาอยู่ด้วย เชื่อว่าการพิจารณาโครงการจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง และต้องมีการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องแต่ละโครงการ เพื่อให้เงินใช้ได้ทันทีและมีความโปร่งใส และเพื่อให้การอนุมัติโครงการโปร่งใสมากขึ้น เพื่อนสมาชิกในสถามีการเสนอให้ตั้งกรรมการวิสามัญขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ติดตามการใช้จ่ายเงินที่เกิดจากตัว พ.ร.ก.กู้เงิน ในฉบับนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง