“เพชรดาว” หนุนจ่ายเบี้ยเลี้ยง อสม.เท่ากัน เหตุบางแห่งได้แค่ข้าวน้ำ

การเมือง
29 พ.ค. 63
14:04
1,690
Logo Thai PBS
“เพชรดาว” หนุนจ่ายเบี้ยเลี้ยง อสม.เท่ากัน เหตุบางแห่งได้แค่ข้าวน้ำ
ส.ส.พรรคภูมิใจไทย หนุนจ่ายเบี้ยเลี้ยง อสม. อย่างเท่าเทียม โชว์ตัวอย่างบางแห่งได้ “หลักร้อย” –บางแห่งได้แค่ข้าวกับน้ำ เผยลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้พบ "ชุดพีพีอี" ยังขาดแคลน เจ้าหน้าที่สลับใส่กับชุดกันฝน

วันนี้ (29 พ.ค.2563) พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายถึงการจัดสรรงบฯ จาก พ.ร.ก.เงินกู้ จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท สำหรับด้านสาธารณสุข โดยระบุว่า การจัดสรรเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 4.5% ของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าน้อย และเมื่อเทียบกับวงเงินทั้งหมด (พ.ร.ก. 3 ฉบับ) คิดเป็น 2% เท่านั้น นอกจากนี้ยังขาดรายละเอียดที่จะใช้ในการพิจารณาด้วย

ทั้งนี้ตนได้ลงพื้นรับฟังความเดือดร้อนของคนในจังหวัดชายแดนใต้ เช่น สำรวจสถานที่กักตัว กว่า 20 แห่งในจังหวัดชายแดนใต้ คุยกับคณะกรรมการจังหวัดปัตตานีนานกว่า 2 สัปดาห์ และคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันนี้ถือเป็นการสะท้อนเสียงคนทำงานด่านหน้าและคนที่ทำงานในโรงพยาบาลจังหวัดชายแดนใต้

ปัญหาที่พบ เช่น กลุ่มเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพตำบล และ รป.สต. ซึ่งมีบทบาทไม่น้อยกว่าโรงพยาบาลในจังหวัด ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่แบ่งเวรและเวียนกันไปตามจุดตรวจ จุดคัดกรอง สถานที่กักตัว บางแห่งเคาะประตูบ้านร่วมกับ อสม. ที่สำคัญในภาคใต้ต้องตรวจมัสยิดด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยใจรัก แต่จะดีกว่านี้หากมีอุปกรณ์ป้องกันสนับสนุน เพราะหลายพื้นที่ยังขาดหน้ากากอนามัยที่ใช้ทางการแพทย์และชุดป้องกันพีพีอี

ดิฉันลงไปดู บางที่หน้ากากและชุดพีพีอียังขาดแคลน บางแห่งเพิ่งได้ไป ต้องใช้อย่างประหยัดสลับเสื้อกันฝน

ที่สำคัญคือเรื่องประกันชีวิต ซึ่ง รป.สต. จะมีเจ้าหน้าที่ได้ทำประกันแค่ 2 คน คือ ผอ. และเจ้าหน้าที่ด้านระบาดวิทยา ทั้งที่ รป.สต. แห่งหนึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ 7-10 คน ยิ่งกว่านั้นบางแห่งไม่ได้รับค่าตอบแทนเข้าเดือนที่ 3 แล้ว แม้บางแห่งจะแก้ไขโดยการนำเงินบำรุงมาจ่ายก่อน แต่ไม่ใช่ทุกที่ที่จะมีเงินพอจ่าย

ขณะที่ อสม. ที่ได้รับคำชมจากคนทั่วประเทศ วันนี้ยังดีที่เคาะประตูบ้าน (กลุ่มเฝ้าระวัง) ได้ 50 บาท/คน/วัน บางแห่ง อสม.ได้เบี้ยเลี้ยงวันละ 150 บาท บางแห่งได้ 240 บาท ซึ่งได้งบฯ จาก อบต. หรือจังหวัดแล้วขึ้นอยู่กับความพร้อมของพื้นที่ จึงทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่าได้เงินไม่เหมือนกัน ขณะที่บางแห่งได้ข้าวกล่องและน้ำกลับบ้านเท่านั้น

ทั้งนี้ขอท้วงติงเรื่องการจัดสรรงบฯ ให้กับแต่ละโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ หรือ ไซส์เอส 49 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีการกำหนดงบฯ ให้ได้เท่ากันหมด ทั้งที่บางแห่งไม่มีความเสี่ยงด้านโควิด-19 หรือไม่รุนแรงเท่า กทม. และ จ.นนทบุรี แต่กลับได้งบฯ เท่ากันหมด

ท้ายสุดคือการกำหนดแบบในการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใหม่ ซึ่งจะต้องการโซนนิ่งพื้นที่เพื่อจัดทำห้องความดันลบและแยกอาคารใหม่ แต่ปัจจุบันโรงพบาลในต่างจังหวัดต้องใช้แบบก่อสร้างเหมือนกันหมด ซึ่งออกแบบมาจากกองแผนฯ กระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่แต่ละจังหวัดมีพื้นที่ไม่เหมือนกัน จึงขอเสนอว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้โรงพยาบาลจ้างเอกชนออกแบบ เพื่อให้การออกแบบตอบโจทย์พื้นที่นั้น ตามแนวคิดให้คนในพื้นที่คิดเอง วางแผนเอง ส่วนกลางแค่สนับสนุน ไม่เช่นนั้นจะเป็นการตัดเสื้อโหลให้ใส่ ซึ่งสุดท้ายก็ใส่ได้บ้าง ใส่ไม่ได้บ้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง