ทั่วโลกติดเชื้อ COVID-19 เกิน 6 ล้านคนตาย 3.6 แสนคน

ต่างประเทศ
30 พ.ค. 63
12:09
15,805
Logo Thai PBS
ทั่วโลกติดเชื้อ COVID-19 เกิน 6 ล้านคนตาย 3.6 แสนคน
สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 จาก 215 ประเทศทั่วโลก 6,031,023 คน เสียชีวิต 366,812 คน และรักษาหาย 2,659,270 คน ขณะที่อินเดียติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกแล้ว ส่วนเกาหลีใต้พบผู้ติดเชื้อวันเดียว 79 คนสูงสุดในรอบ 53 วัน

วันนี้ (30 พ.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) จาก 215 ประเทศทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อ รวม 6,031,023 คน เสียชีวิต 366,812 คน และรักษาหาย 2,659,250 คน ยังรักษาในโรงพยาบาล 3,004,376 คน โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา พบผู้ติดเชื้อ 1,793,530,คน เสียชีวิต 104,542 คน บราซิล พบผู้ติดเชื้อ 465,166 คน เสียชีวิต 27,878 คน รัสเซีย พบผู้ติดเชื้อ 387,623 คน เสียชีวิต 4,374 คน 

สำหรับประเทศไทย พบว่าอยู่ในอันดับที่ 77 มีผู้ติดเชื้อ 3,077 คน เสียชีวิตคงที่ 57 คน รักษาหาย 2,961 คน ขณะที่อินเดีย ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โดยมีตัวเลขผู้ป่วยสะสม173,491 คนเสียชีวิตแล้ว 8,594 คน

เกาหลีใต้พบติดเชื้อรายใหม่วันเดียวสูงถึง 79 คน และถือว่าสูงสุดในรอบ 53 วันของเกาหลีใต้ ทำให้รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้ประชาชนงดเว้นการพบปะทางสังคม หรือเดินทางไปในสถานที่คนพลุกพล่าน และจะประกาศปิดพิพิธภัณฑ์ สวนสาธารณะ และศูนย์จัดแสดงสินค้าต่างๆ รวมทั้งยกระดับมาตรการต่างในกรุงโซล โดยจะปิดพื้นที่ต่ออีก 2 สัปดาห์

ส่วนฟิลิปปินส์ หลังจากก่อนหน้านี้ โดยประธานาธิบดี ประกาศว่าจะไม่ให้เปิดเรียนจนกว่าจะมีวัคซีนใหม่มาใช้ แต่ต้องเปลี่ยนเพราะมีแรงกดดัน จนต้องเปลี่ยนใหม่มาเปิดเรียนเดือนส.ค.

 

คนไทยกังวลเปิดระยะ 3-4 ห่วงระบาดใหม่

ขณะที่ผลสำรวจ กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "คนไทยว่ายังไง...กับการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,205 คน ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 57.9 เห็นว่า การต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน การล็อกดาวน์มีผลต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน การเรียน ค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 42.1 เห็นว่ามีผลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

เมื่อถามว่า กังวลมากน้อยเพียงใดต่อสถานที่ที่เปิดจากมาตรการผ่อนปรน เฟสแรก และเฟสสองว่า จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 พบว่า ในมาตรการผ่อนปรนเฟสแรกเคอร์ฟิว 22.00-04.00 น. เช่น ตลาด ร้านอาหารขนาดเล็ก สนามกีฬากลางแจ้ง ร้านตัดผม ร้อยละ 61.8 มีความกังวลต่อสถานที่ที่ผ่อนปรนค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด 

ส่วนมาตรการผ่อนปรนระยะ 2 เคอร์ฟิว 23.00-04.00 น. เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 61.6 มีความกังวลต่อสถานที่ที่ผ่อนปรนค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด แบ่งเป็น ค่อนข้างน้อยร้อยละ 44.6 และน้อยที่สุดร้อยละ 17.0 ขณะที่ร้อยละ 38.4 มีความกังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด แบ่งเป็น ค่อนข้างมากร้อยละ 32.6 และมากที่สุดร้อยละ 5.8

สถานที่ที่กังวลมากที่สุดหากมีการผ่อนปรนระยะ 3 และระยะ 4 ว่าอาจจะทำให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้ คือ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คิดเป็นร้อยละ 80.5 รองลงมาคือ สนามมวย สนามม้า สนามแข่งกีฬาต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 77.6 และโรงภาพยนตร์ คิดเป็นร้อยละ 46.2

เห็นด้วยพ.ร.ก.ฉุกเฉินร้อยละ 69.5%

เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการลดเวลาเคอร์ฟิวลงเหลือ 23.00-03.00 น. ส่วนใหญ่ร้อยละ 82.4 เห็นด้วยเพราะ เวลาไม่ได้แตกต่างจากเดิมที่ 23.00-04.00 น. จะได้มีความยืดหยุ่นในการดำเนินชีวิตได้มากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 17.6 ไม่เห็นด้วย เพราะจะทำให้มีการพบปะ สังสรรค์ ชุมนุมกันเพิ่มขึ้น เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19

สำหรับความเห็นต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินยังจำเป็นมากน้อยเพียงใดต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ส่วนใหญ่ร้อยละ 69.5 เห็นว่ายังจำเป็นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 30.5 เห็นว่าจำเป็นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด เมื่อถามถึงเรื่องที่ห่วงมากที่สุด กับอนาคตของประเทศไทย ในการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ ปัญหาการขาดรายได้ ค่าครองชีพของประชาชนคิดเป็นร้อยละ 77.9 รองลงมาคือ มีการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 70.0 และการศึกษาของลูกหลานเรียนออนไลน์คิดเป็นร้อยละ 57.7

ข่าวที่เกี่ยวข้อง